นับว่า สภาคองเกรส ซึ่งประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ได้ผ่าน งบกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ก้อนแรก ในยุคการบริหารของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) โดยเป็นงบประมาณฉุกเฉินมูลค่ามหาศาลถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 58.7 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวอเมริกันในการฝ่าฟันวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐให้พลิกฟื้นและขยายตัวมากยิ่งขึ้น
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติเสียงข้างมาก 220 ต่อ 211 เสียง ในการประชุมเมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) รับรองร่างงบประมาณฉุกเฉินฉบับล่าสุด เพื่อช่วยเหลือชาวอเมริกันในการฝ่าฟันวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีวงเงินรวมประมาณ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 58.7 ล้านล้านบาท โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันเสาร์ที่ 6 มี.ค. ร่างงบดังกล่าวได้ผ่านการลงมติจากวุฒิสภาด้วยเสียงข้างมาก 50 ต่อ 49 เสียง โดยเสียงสนับสนุนทั้งหมดมาจากสมาชิกฝั่งเดโมแครตซึ่งเป็นพรรครัฐบาล
ร่างงบประมาณดังกล่าวครอบคลุมถึงเงินช่วยเหลือประชาชน “ก้อนแรก” จากรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เช่นเงินช่วยเหลือแบบจ่ายสดคราวเดียวส่งตรงถึงประชาชนคนละ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 43,260 บาท ณ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 30.9 บาท) ซึ่งรัฐบาลกลางจะส่งตรงถึงประชาชนที่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ ในรูปแบบของเช็คเงินสด คิดเป็นวงเงินในส่วนนี้รวมประมาณ 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 12.36 ล้านล้านบาท )
นอกจากนี้ ยังเป็นงบอีก 350,000 ล้านดอลลาร์ หรือ ราว 10.81 ล้านล้านบาท สำหรับสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลท้องถิ่นทั้ง 50 รัฐ และกรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษ โดยงบประมาณดังกล่าวจะเน้นสนับสนุนงานด้านการศึกษาและการสาธารณสุข รวมถึงการตรวจคัดกรองและการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
ส่วนการเยียวยาผู้ว่างงานจากสถานการณ์โควิด รัฐบาลกลางจะขยายเวลาการให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ว่างงานสัปดาห์ละ 300 ดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 9,270บาท ) จนถึงเดือนก.ย.นี้ ซึ่งหากเทียบกับเงินช่วยเหลือผู้ตกงานเพราะโควิด-19 ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ถือเป็นเงินช่วยเหลือที่ลดลงจากเดิม เนื่องจากสมัยทรัมป์จ่ายคนละ 400 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวระบุว่า ข้อเสนอร่างงบประมาณของประธานาธิบดีไบเดนที่เสนอให้ปรับฐานค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมง จาก 7.25 ดอลลาร์ ( ราว 224 บาท ) เป็น 15 ดอลลาร์ ( ราว 463.50 บาท ) ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ผู้ประกอบการร้านอาหารในสหรัฐซึ่งเป็นธุรกิจที่จะได้รับเงินเยียวยามากที่สุด จะได้รับการจัดสรรงบประมาณ 28,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 883,740 ล้านบาทสำหรับร้านอาหารทุกขนาดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19
โฆษกทำเนียบขาวยืนยันว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะลงนามให้ร่างงบประมาณดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในวันศุกร์ที่ 12 มี.ค. นี้ หรือ 2 วันก่อนที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานในปัจจุบันจะหมดอายุลงในวันที่ 14 มี.ค.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: