“โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น.โขง” ในสปป.ลาวคืบหน้า จ่อส่งไฟฟ้าขายไทย-เวียดนาม

19 มี.ค. 2564 | 03:11 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มี.ค. 2564 | 10:21 น.

งานเตรียมการก่อสร้าง โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของลาว เสร็จสิ้นแล้ว 80% และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

สำนักข่าวซินหัวรายงานอ้างอิงหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์ส ของลาว ระบุว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแม่น้ำโขง ขนาด 1,460 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจาก จังหวัดหลวงพระบาง ทางตอนเหนือของลาวราว 25 กิโลเมตร ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด (Luang Prabang Power) ของ รัฐบาลลาว และบริษัทปิโตรเวียดนาม พาวเวอร์ คอร์ปอเรชัน (PetroVietnam Power Corporation) ของเวียดนาม จะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้ไทยและเวียดนามเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2027 หรือ พ.ศ. 2570

รายงานระบุว่า งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าข้างต้น จะเริ่มต้นหลังจากรัฐบาลอนุมัติการก่อสร้างเขื่อนสำหรับงานเตรียมการทั้งหมดแบ่งเป็นการก่อสร้างถนนทางเข้าระยะทาง 11 กิโลเมตร ซึ่งเสร็จสมบูรณ์แล้ว 98% สะพานข้ามแม่น้ำโขงยาว 500 เมตร ซึ่งเสร็จสมบูรณ์แล้ว 41% ส่วนการก่อสร้างท่าเรือชั่วคราว 3 แห่ง สายส่งไฟฟ้าขนาด 115กิโลโวลต์ และ 22 กิโลโวลต์ และสถานีไฟฟ้าขนาดเล็ก เสร็จสมบูรณ์แล้ว 64% ขณะเดียวกันมีการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้สละที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ให้กับโครงการนี้แล้วราว 69%

(แฟ้มภาพซินหัว)

ทั้งนี้ ความคืบหน้าของงานเตรียมโครงการทั้งหมดถูกรายงานต่อนายไซสมพอน พมวิหาน ประธานองค์การแนวลาวพัฒนาชาติ (LFND) ซึ่งเดินทางเยี่ยมชมพื้นที่โครงการเมื่อสัปดาห์ก่อน

นายไซสมพอนแนะนำเจ้าหน้าที่โครงการปฏิบัติตามตารางเวลาเพื่อให้งานเสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของคนงานและช่างเทคนิค โดยเมื่อปีก่อน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้จัดการประชุมให้หน่วยงานลาวร่วมเจรจากับชาติอื่นๆ ในลุ่มน้ำโขง ก่อนจะดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางแห่งนี้

การประชุมดังกล่าวหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของเขื่อน และพิจารณาร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขง (Basin Development Strategy) ปี 2021-2030 ซึ่งเป็นทิศทางยุทธศาสตร์ 10 ปี สำหรับการวางแผนพัฒนาภายในภูมิภาค

มีการยกข้อเสนอแนะหลายประการ ประกอบด้วยการสร้างข้อผูกพันร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียเพิ่มขึ้น การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง 4 ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง อันได้แก่ ลาว เวียดนาม ไทย และกัมพูชา ตลอดจนการแบ่งปันข้อมูลอย่างเปิดเผยและโปร่งใสที่เพิ่มขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดเกม "เกษมราษฎร์" รุก สปป.ลาว

ดัน‘รถไฟพิเศษอุดร-เวียงจันทน์’ ขนทัวร์จีนจากไฮสปีดลาว บูมเศรษฐกิจอีสาน

“จีน”รุกหนักลงทุนเกษตร “ลาว” เฉพาะบอลิคำไซกว่า 4.6 หมื่นไร่

สุพัฒนพงษ์ยันยังไม่ปฏิเสธซื้อขายไฟฟ้าจากลาวที่เหลือ 2,300 เมกกะวัตต์

"นายกรัฐมนตรี" เห็นชอบให้เร่งรัดเปิดด่านชายแดน ไทย-ลาว 3 แห่ง