สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ประกาศเตรียมใช้มาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนป้องกันจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่สาธารณะส่วนใหญ่ในเขตรัฐ “อาบูดาบี” ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ศูนย์การค้า โรงเรียน สนามกีฬา ฯลฯ เริ่มมีผล 20 ส.ค.นี้
สื่อต่างประเทศรายงานว่า มาตรการดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ทางการปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนในรัฐอาบูดาบี ซึ่งเป็นรัฐใหญ่ที่สุดในบรรดา 7 รัฐของยูเออี แล้วถึง 93% ของประชากรราว 1.5 ล้านคน
คณะกรรมาธิการสถานการณ์ฉุกเฉิน วิกฤตการณ์และภัยพิบัติแห่งอาบูดาบี ประกาศผ่านทวิตเตอร์ของทางการว่า อาบูดาบีจะอนุญาตให้ประชาชน “ที่ฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น” สามารถเข้าใช้พื้นที่สาธารณะซึ่งในประกาศครั้งนี้ครอบคลุมตั้งแต่ศูนย์การค้า ร้านอาหาร สถานออกกำลังกาย พื้นที่สันทนาการ พิพิธภัณฑ์ ศูนยฺวัฒนธรรม สวนสนุก โรงแรม-รีสอร์ท สนามกีฬา ร้านค้าปลีกนอกศูนย์การค้า ไปจนถึงสถานศึกษา
มีข้อยกเว้นเพียงบางสถานที่ ที่ยังคงอนุญาตให้ผู้ยังไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข้าได้ เช่น ร้านขายยา และซูเปอร์มาร์เก็ต
นอกจากนี้ ประกาศดังกล่าวยังยกเว้นการบังคับใช้ให้สำหรับเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี และคนกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นเป็นพิเศษให้ไม่ต้องฉีดวัคซีน
ปัจจุบัน รัฐอาบูดาบี มีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูง คือ 93 % ของประชากรทั้งหมด 1.5 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว ขณะที่ยูเออีทั้งประเทศก็ถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดในโลก โดยมีการฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 15 ล้านโดส นั่นหมายความว่าประชากรราว 77% ของประเทศได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เนื่องจากวัคซีนป้องกันโควิดที่ใช้ในยูเออีเป็นชนิดที่ต้องฉีด 2 เข็ม ขณะที่ประชากรทั้งประเทศมีราว 10 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ทางการรัฐอาบูดาบียังไม่ได้ออกมาให้รายละเอียดว่า กฎเกณฑ์ที่ประกาศใช้และจะมีผลในวันที่ 20 ส.ค.ที่จะถึงนี้ จะครอบคลุมใช้กับนักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติที่มาเยือนอาบูดาบีด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ ข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ซึ่งรวบรวมข้อมูลอัพเดทผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิดในประเทศต่าง ๆทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมในยูเออีอยู่ที่ระดับ 631,160 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 1,807 ราย อัตราการติดเชื้อใหม่รายวันอยู่ที่เฉลี่ย 2,100 ราย ซึ่งเท่ากับประมาณครึ่งหนึ่งของยอดสูงสุดที่เคยทำไว้ในเดือนมกราคม 2564
รายงานไม่ได้ระบุว่า ระหว่างรัฐอาบูดาบีซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองหลวง และรัฐดูไบซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจ-การค้าของประเทศยูเออีนั้น รัฐใดมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากน้อยเท่าใด แต่ทั้งสองรัฐนี้มีนโยบายเกี่ยวกับวัคซีนโควิดที่แตกต่างกัน โดยในรัฐอาบูดาบีนั้นใช้แต่วัคซีนซิโนฟาร์มของจีนมาตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยเป็นการให้บริการฟรีแก่ประชาชน พร้อมกันนี้ ทางรัฐมีแผนร่วมลงทุนกับบริษัทซิโนฟาร์ม เพื่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ขึ้นในรัฐอาบูดาบีด้วย
ขณะที่ดูไบ เลือกใช้วัคซีนจากหลากหลายบริษัทมากกว่า ซึ่งนอกจากซิโนฟาร์มแล้ว ก็ยังมีวัคซีนต้านโควิดของบริษัทไฟเซอร์ที่ร่วมพัฒนากับบริษัทบิออนเทคจากเยอรมนี วัคซีนของแอสตร้าเซนเนกา ที่ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และวัคซีนสปุตนิก วี จากรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดหลังจากที่โควิดระบาดหนักขึ้นและมีการตรวจพบเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ รวมทั้งข่าวยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มครบ 2 เข็มแล้วมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทางการรัฐอาบูดาบีจึงได้อนุมัติใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนเข็มที่สาม หรือบูสเตอร์ เพื่อฉีดกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น