การจัดอันดับดัชนีที่แสดงถึงการจัดการของแต่ละประเทศในการรับมือสถานการณ์ของโรคโควิด-19 (Global Soft Power Index) พบว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี)ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง และอันดับ 14 ของโลก ในด้านการจัดการโควิด-19 จากประเทศที่มีการประเมินทั้งหมด 105 ประเทศทั่วโลก
โดยประเมินจากภาพรวมในมิติด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการป้องกัน ความร่วมมือทดลองการใช้วัคซีน เช่น การ เข้าร่วมทดลองวัคซีนขั้นสุดท้ายของบริษัทซิโนฟาร์มของจีนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยการทดลองดังกล่าวมี อาสาสมัคร 31,000 คน จาก 125 ประเทศที่อาศัยอยู่ในยูเออีเข้าร่วม ช่วงอายุระหว่าง 18 ถึง 60 ปี ทั้งหมดได้รับวัคซีน จำนวน 2 โดสในระยะเวลา 28 วัน ทั้งนี้ยูเออีเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับความร่วมมือในการดำเนินการทดลองระยะที่ 3 เนื่องจากประเทศนี้มีประชากรมากกว่า 200 เชื้อชาติทำให้สามารถทำการวิจัยที่มีประสิทธิภาพและเพิ่มความเป็นไปได้ ในการใช้ทั่วโลก วัคซีนซึ่งพัฒนาโดยจีนตัวนี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ภายใต้อำนาจตามมาตรการฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization) ของทางการสาธารณสุขของยูเออี เพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่แนวหน้าที่เสี่ยงติดโรคโควิด-19 มากที่สุด
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อนุมัติการใช้งานวัคซีน Sinopharm ที่ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท China’s Sinopharm Group Co Ltd. ประเทศจีน หลังจากผลการทดสอบขั้นสุดท้ายชี้ว่า วัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพป้องกัน COVID-19 ได้ มากกว่าร้อยละ 80
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปิดเผยว่า วัคซีนจากบริษัทชิโนฟาร์มของจีนมีประสิทธิภาพในการ ป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้มากถึงร้อยละ 86 และไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรงในอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีน ขณะนี้รัฐบาลได้เริ่มการให้วัคซีนโดยเปิดรับการลงทะเบียนทางออนไลน์เพื่อรับการฉีดวัคซีนผ่านโรงพยาบาลและคลีนิก 45 แห่งทั่ว ประเทศ
ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข ยูเออีรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ว่า มียอดผู้ติดเชื้อในประเทศสะสมรวม 194,404 ราย รักษาหาย 169,129 ราย เสียชีวิต 637 ราย
ส่วนที่บาห์เรน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2563 รัฐบาลได้อนุมัติการใช้งานวัคซีน Sinopharm หลังจากที่ได้รับเอกสารยื่นขออนุมัติการใช้งานจากบริษัท G42 Healthcare โดยผู้สนใจเข้ารับการฉีดวัคซีนสามารถลงทะเบียนทางออนไลน์ ขณะนี้บาห์เรนมีผู้ติดเชื้อจำนวน 89,143 ราย รักษาหายแล้ว 87,182 ราย ผู้เสียชีวิต 348 ราย
ขณะที่รัฐบาลคูเวตได้อนุมัติให้ใช้งานวัคซีนที่พัฒนาโดยไฟเซอร์-ไบออนเทคแล้ว วัคซีนชุดแรกจะไปถึงในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม โดยกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนคือบุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุ และยืนยันว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ จะสามารถฉีดวัคซีนได้วันละ 10,000 คน ขณะนี้คูเวตมีจำนวนผู้ติดเชื้อ 146,218 ราย รักษาหาย 142,094 ราย ผู้เสียชีวิต 911 ราย
รัฐบาลซาอุดิอาระเบียโดยกระทรวงสาธารณสุขได้โพสต์ทวิตเตอร์ว่าได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนของ Pfizer Inc. & BioNTech โดยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนผ่านแอปพลิเคชั่น “Sehhaty” มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 300,000 คน กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจากโรคเรื้อรัง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องและ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนตัวนี้รายงานการติดเชื้อล่าสุดในซาอุดิอาระเบียพบว่ามีจำนวน 360,848 ราย รักษาหาย 351,722 ราย เสียชีวิต 6,112 ราย
รัฐบาลโอมานอนุมัติใช้วัคซีนของบริษัท Pfizer Inc. & BioNTech คาดว่าวัคซีนจะถึงโอมานภายในสัปดาห์ สุดท้ายเดือนธันวาคมนี้ ขณะนี้โอมานมีผู้ติดเชื้อรวม 127,669 ราย รักษาหาย 119,574 ราย และเสียชีวิต 1,488 ราย
กระทรวงสาธารณสุขประเทศกาตาร์ประกาศอนุมัติใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัท Pfizer Inc. & BioNTech ให้ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยวัคซีนได้เดินทางถึงกาตาร์แล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลกาตาร์ยังได้เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนต้านไวรัสของบริษัท Moderna บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพและเวชภัณฑ์จาก สหรัฐอเมริกา ที่มีความคืบหน้ามากขึ้นหลังผลการวิเคราะห์ขององค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ระบุว่าวัคซีนมี ความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สูงถึง 94% ซึ่งมีแนวโน้มในการอนุมัติใช้กับประชาชนใน สหรัฐอเมริกาเป็นกรณีฉุกเฉินภายในไม่กี่วันข้างหน้า ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในกาตาร์มีจำนวน 142,001 ราย รักษา หาย 139,724 ราย และเสียชีวิต 243 ราย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ เมืองดูไบ ระบุว่า การที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่รับมือกับโควิด-19 ได้ดีที่สุดในตะวันออกกลาง สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมและความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการรับมือกับวิกฤตดังกล่าว ซึ่งนอกเหนือจากมาตรการในการ ป้องกันและรักษาผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ในแง่ของด้านเศรษฐกิจนั้นรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบแล้วจำนวนรวมกว่า 106,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท เพื่อบรรเทาและช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนให้สามารถข้ามผ่านช่วงเวลานี้ และรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศแรกที่จะกลับมาฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติโควิด-19
ขณะที่ปัจจุบันหลายประเทศในตะวันออกกลางได้ประกาศล็อกดาวน์ เช่น ซาอุดิอาระเบีย คูเวต และ โอมาน แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ประเทศและปรับกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้ นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเดินทางเข้ามามากยิ่งขึ้น รวมทั้งเดินหน้าจัดงานแสดงสินค้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้า ของประเทศ แต่ก็ยังมีกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เช่น การบังคับให้สวมหน้ากากอนามัย และการออกมาตรการป้องกันภายในงานแสดงสินค้า เป็นต้น