นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายการเปิดให้บริการการขนส่งทางน้ำในเส้นทางระหว่างจังหวัดชลบุรี – จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ – จังหวัดสงขลา ว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการเตรียมการเปิดเส้นทางให้บริการการขนส่งทางน้ำ ระหว่างจังหวัดชลบุรี (ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ) - จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ – จังหวัดสงขลา ซึ่งมีบริษัท ซี ฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด ให้ความสนใจเดินเรือในเส้นทางดังกล่าว โดยใช้เรือ ดิ บลู ดอลฟิน ความยาว 136.60 เมตร ขนาด 7,003 ตันกรอส ความเร็ว 17 น๊อต (31.48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งได้รับการตรวจรับรองความปลอดภัยจากกรมเจ้าท่าแล้วเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 และคนประจำเรือได้รับการฝึกอบรมตามข้อกำหนด มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน ในระยะแรกจะเดินเรือในเส้นทางระหว่างจังหวัดชลบุรี – จังหวัดสงขลา โดยออกเดินทางจากท่าเรือพาณิชย์สัตหีบไปยังจังหวัดสงขลา และจะขยายเส้นทางเชื่อมโยงเข้ากับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในระยะต่อไป ปัจจุบันเรือ ดิ บลู ดอลฟิน ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก BOI แล้ว และจะได้เคลื่อนย้ายเรือเพื่อไปทดลองการเดินเรือที่ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ คาดว่าจะทดสอบแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้
ทั้งนี้ได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการการให้บริการการขนส่งทางน้ำฯและได้สั่งการเพิ่มเติม ดังนี้
1. ให้กรมเจ้าท่าเร่งรัดเตรียมการเพื่อให้สามารถเปิดให้บริการการขนส่งทางน้ำในเส้นทางดังกล่าวได้ตามแผนที่กำหนด โดยให้พิจารณาค่าระวางขนส่งทั้งในส่วนของรถบรรทุกและรถยนต์ส่วนบุคคลที่เหมาะสมและจูงใจให้มาใช้บริการ
2. ให้กรมเจ้าท่า กรมทางหลวงชนบท และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการให้บริการขนส่งทางน้ำในเส้นทางดังกล่าว โดยให้ประมาณการปริมาณการขนส่งและการเดินทางในเส้นทางจังหวัดชลบุรี – จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ – จังหวัดสงขลา เพื่อวางแผนการขนส่งเชื่อมโยงท่าเรือ และการบริหารจัดการพื้นที่หลังท่า ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัว ไม่ให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด และบรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรมตามที่นโยบายกำหนด
3. ให้กรมเจ้าท่าจัดเตรียมข้อมูลเพื่อการประชาสัมพันธ์ให้ครบถ้วน เช่น อัตราค่าระวาง ระยะเวลาที่ใช้ การบริหารจัดการ และประโยชน์ที่ได้รับ รวมทั้งให้จัดทำข้อมูลสถิติเปรียบเทียบระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่งและเดินทางทางน้ำและทางบกระหว่างจังหวัดชลบุรี – จังหวัดสงขลาทั้งในส่วนของรถบรรทุกและรถยนต์
ทั้งนี้ส่วนบุคคล ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการขนส่งและบริษัทขนส่งในการพิจารณาคัดเลือกเส้นทางที่เหมาะสมการคมนาคมขนส่งทางน้ำในเส้นทางดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor, EEC) เข้ากับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor, SEC) ช่วยเพิ่มศักยภาพของการขนส่งทางน้ำ ลดต้นทุนและอุบัติเหตุจากการขนส่งทางบก และลดปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งกรมเจ้าท่าจะได้ร่วมกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จและเกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป