สถานการณ์โควิดในไทยยังระบาดรุนแรง และน่าห่วง เฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตเพื่อส่งออกของประเทศที่ยังเป็นเครื่องยนต์หลักเพียงเครื่องยนต์เดียวในเวลานี้ที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจ แม้ตัวเลขการส่งออก 6 เดือนแรกยังขยายตัวได้สูงถึง 15.5% โดยที่การส่งออกเดือนมิ.ย.ล่าสุดส่งออกได้ 23,699 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 43.8% ทำนิวไฮขยายตัวสูงสุดรอบ 11 ปี แต่จากปัญหาโควิดที่กำลังระบาดรุนแรงและลุกลามในคลัสเตอร์โรงงานผลิตเพื่อส่งออกที่หนักหน่วงมากขึ้น ส่งผลสถานการณ์ไม่น่าไว้ใจ อาจกระทบการส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ทุกสำนักออกมาคาดการณ์ได้
โรงงานอาหารติดเชื้อมากสุด
ล่าสุดข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม ณ วันที่ 26 ก.ค.2564 (เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย.64) ตัวเลขสะสมการระบาดของโรคโควิดในโรงงานทั่วประเทศมีจำนวน 486 แห่ง ผู้ติดเชื้อ 34,938 คน ครอบคุลม 48 จังหวัด โดยที่มีผู้ติดเชื้อในโรงงานมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ เพชรบุรี (4,464 คน) เพชรบูรณ์ (3,481 คน) ประจวบคีรีขันธ์ (2,538 คน) สมุทรสาคร (2,293 คน) และสงขลา (2,158 คน) โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากสุด 5 อันดับแรกได้แก่ อาหาร (93 โรง) อิเล็กทรอนิกส์ (67 โรง) เครื่องนุ่งห่ม (39 โรง) โลหะ (38 โรง) และพลาสติก (35 โรง)
บิ๊กส่งออกสำลักพิษ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากเชื้อโควิดที่ลามกระทบในหลายโรงงานที่เป็นผู้ส่งออกอันดับต้น ๆ ในหลายอุตสาหกรรม ที่พบมีผู้ติดเชื้อทั้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน เช่น โรงงานผลิตถุงมือยางของบริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีที่ จ.ตรัง,โรงงานผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัทแคล-คอมพ์ฯ ที่ จ.เพชรบุรี,โรงงานแปรรูปไก่ ของซีพีเอฟ ที่สระบุรี โรงงานแปรรูปไก่ของเครือเบทาโกร ที่ จ.ลพบุรี และล่าสุดคือโรงงานแปรรูปไก่เครือสหฟาร์มที่ จ.เพชรบูรณ์ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 3 พันคน
“บริษัทที่มีผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกในอันดับต้น ๆ ของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อหยุดการผลิตก็จะกระทบซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทั้งนี้ตามแนวโน้มการส่งออกในภาพรวมของประเทศมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง โดยในการประชุม กกร.ล่าสุดในเดือนกรกฎาคมได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกไทยทั้งปีจะขยายตัวได้ที่ 8-10% แต่จากสถานการณ์โควิดที่รุนแรงคงต้องรอลุ้นในการประชุม กกร.ประจำเดือนสิงหาคมจะปรับเพิ่ม หรือลดคาดการณ์ส่งออกอย่างไร”
ชงอัดยาแรงจ่ายตรงเยียวยา
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า สำหรับการหยุดยั้งโควิดให้ได้ผล รัฐคงต้องทำ 2 มาตรการทางด้านสาธารณสุขควบคู่กันคือ การเร่งจัดหาวัคซีนให้มีมากพอ เข้ามาเร็ว เป็นวัคซีนที่มีคุณภาพต้านทานเชื้อโควิดที่กลายพันธุ์ได้ และเร่งระดมฉีดให้ได้มากที่สุด รวมถึงการปลดล็อกชุดตรวจโควิดเชิงรุก (Rapid Antigen Test Kit) ให้โรงงานต่าง ๆ สามารถนำไปตรวจคัดกรองคนงานได้ด้วยตัวเอง โดยพนักงาน/เจ้าหน้าที่ให้ได้รับการฝึกอบรมในการใช้ชุดตรวจ เพื่อลดภาระต้นทุน และลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ ล่าสุดสถานการณ์น่าห่วงมาก โดยผลจากที่แต่ละโรงงานได้มีการตรวจคัดกรองพนักงานเชิงรุกล่าสุดพบในแต่ละโรงงานมีผู้ติดเชื้อโควิดเฉลี่ยที่ 15-20% ของจำนวนพนักงาน บางโรงสูงถึง 20-30% เนื่องจากสายพันธุ์ใหม่ (เดลต้า) ติดเชื้อได้ง่ายมาก
ส่วนมาตรการยาแรงหากมาตรการด้านสาธารณาสุขยังควบคุมไม่ได้ผลและเกินจะรับมือไหวอาจต้องมีการขยายพื้นที่ล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียทางด้านเศรษฐกิจเพิ่ม รัฐต้องเตรียมมาตรการฉุกเฉินและกลไกพิเศษในการจ่ายเงินชดเชยหรือเยียวยาภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบ ตัวอย่างสหรัฐฯที่มีการจ่ายเงินชดเชยเข้าบัญชีของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ในอัตราเดียวกับรายได้พึงประเมินก่อนเกิดโควิด เพื่อให้เขาสามารถประคองและฟื้นธุรกิจให้กลับมาได้
พึ่งวัดตั้ง รพ.สนาม
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลกระทบโควิดที่ลามสู่โรงงานผลิตส่งออก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ใช้มาตรการ Bubble & Seal คัดแยกคนที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกัน ซึ่งตามข้อกำหนดหากมีพนักงานติดเชื้อเกิน 10% ต้องมีการตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงาน เวลานี้หลายโรงได้เริ่มแล้ว แต่ในรายที่ไม่มีพื้นที่มากพอเวลานี้มีทางเลือกใหม่คือไปใช้สถานที่วัดที่อยู่โดยรอบ หรือใกล้โรงงานในการตั้งโรงพยาบาลสนามในลักษณะเช่าพื้นที่ โดยเอกชนออกค่าใช้จ่าย หรือหากวัดใดมีมูลนิธิ หรือมีกองทุนที่อยากช่วยก็แล้วแต่จะคุยกัน
“การแก้ปัญหาโควิดโดยการล็อกดาวน์หรือประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศคงทำได้ยาก เพราะจะกระทบเศรษฐกิจและทุกภาคส่วนในวงกว้าง ซึ่งธุรกิจล้มแล้วลุกยาก คงต้องล็อกดาวน์เป็นจุด ๆ และเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ตามสถานการณ์ความรุนแรง แต่หากจะทำมาตรการรัฐต้องครบทุกด้าน ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนในคลัสเตอร์ที่มีผู้ติดเชื้อมาก ๆ การใช้ชุดตรวจสอบ Test Kit เชิงรุก การแยกแยะว่ากิจการไหนต้องหยุดบ้าง ธุรกิจไหนยุดไม่ได้เช่น ร้านอาหาร ร้านขายยา หากล็อกดาวน์ 100% ก็ต้องมีอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้ออย่างอู่ฮั่นโมเดล ที่ถูกล็อกดาวน์ เมืองรอบ ๆ ยังผลิตอาหารป้อนได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในกลุ่มสินค้าอาหารส่งออกท่ามกลางสถานการณ์โควิดปีนี้ยังมั่นใจว่าจะส่งออกได้ที่ระดับ 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3-5%”
“โตโยต้า” ลุ้น 29 ก.ค. ประเมินใหม่
ด้านบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ประกาศให้โรงงานผลิตรถยนต์ 3 แห่งในไทยหยุดยาว 9 วัน จากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต เพราะโรงงานของซัพพลายเออร์ต้องปิดหลังพบพนักงานติดโควิด-19 นั้น สำหรับโตโยต้า มีโรงงานผลิตรถยนต์ 2 แห่งที่ จ.ฉะเชิงเทรา คือ บ้านโพธิ์ กำลังการผลิตเต็มที่ 2.2 แสนคันต่อปี และเกตเวย์ 3 แสนคันต่อปี รวมถึงโรงงานสำโรง จ.สมุทรปราการ 2.4 แสนคันต่อปี โดยทั้ง 3 โรงงานหยุดการผลิตชั่วคราวจากผลกระทบด้านโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 20-23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และต่อเนื่องวันหยุดตามปฎิทินของบริษัท 24-28 กรกฎาคม 2564 ซึ่งในวันที่ 29 กรกฎาคม โตโยต้าจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ว่าจะวางแผนการผลิตในแต่ละโรงงานอย่างไร
ขณะที่หลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในไทย ต้องประเมินสถานการณ์การผลิตแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ จากปัญหาโควิด-19 และการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบไปจนถึงสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. เพิ่งปรับเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ในปี 2564 จากเดิมที่ตั้งไว้ 7.5 แสนคัน เพิ่มเป็น 8.0 - 8.5 แสนคัน
แบงก์ชี้ไม่กระทบ รง.ไก่มาก
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด ในโรงงานหรือบริษัทขนาดใหญ่เกิดภาวะชั่วคราว ในโรงงานแปรรูปไก่หลายจุด ซึ่งอาจจะกระทบบ้างในเชิงการผลิต เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นบริษัทสามารถแจ้งคู่ค้าได้ เพราะผู้ประกอบการ บริษัทหรือโรงงานส่วนใหญ่มักจะมีสต๊อกสินค้า แต่บางชิ้นส่วนอาจจะน้อย (เช่นโรงงานแปรรูปไก่ของซีพีเอฟ ที่สระบุรี และสหฟาร์ม ที่เพชรบูรณ์) เมื่อปิด 14 วันจะกลับมาผลิตได้ต่อ ขึ้นอยู่กับสัดส่วนส่งออก เพราะปิด 14 วันมาเปิดได้ โดยจะไม่เสียหายเหมือนโรงงานที่ถูกน้ำท่วม ทำให้เครื่องจักร หรือเครื่องมืออุปกรณ์เสียหาย
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3700 วันที่ 29-31 ก.ค. 2564