ช่วงตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม -7 ตุลาคม 2564 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดขายซองประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) จำนวน 6 สัญญา ระยะ 23.6 กิโลเมตรมูลค่า งานโยธา 78,720 ล้านบาท ขณะเสียงสะท้อนจากผู้รับเหมารายกลางและนักวิชาการ ต่างออกมาระบุว่า
หลักเกณฑ์เงื่อนไขทีโออาร์ยังยึดรูปแบบเดียวกับสายสีส้ม มองว่าไม่เป็นธรรม อาจเป็นการล็อกสเปกให้กับผู้รับเหมารายใหญ่ เพียงไม่กี่ราย โดยรฟม.จะพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านราคาพร้อมกัน ให้คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านราคา 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการประมูลทั้งนี้ รฟม. ได้ให้เหตุผลที่ใช้เกณฑ์นี้ว่าจำเป็นต้องได้ผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์และสมรรถนะสูง เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีเส้นทางผ่านเขตชุมชนหนาแน่น พื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูง เช่นพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นต้น
แหล่งข่าวจากวงในผู้รับเหมาเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” การใช้เกณฑ์การประมูลโดยยึด เทคนิค 30% และราคา 70% แทนเกณฑ์เดิมที่ชี้ขาดกันที่ซองราคานั้น มองว่า เป็นการกำหนดสเปกที่สูงขึ้นจนทำให้ผู้รับเหมารายกลางไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขั้นได้ เพราะเชื่อว่าต้องตกคุณสมบัติ และจะเหลือเพียงผู้รับเหมารายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ที่อาจคว้างานไป เพราะต่างมีประสบการณ์สูง
โดยเฉพาะการเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น,บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการเป็นต้น
สอดคล้องกับ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตุว่า รฟม. อยู่ระหว่างเปิดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ใต้โดยใช้เกณฑ์คัดเลือกผู้รับเหมาเหมือนกับการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนสายสีส้มที่เป็นข่าวอื้อฉาวและยังมีคดีฟ้องร้องกันอยู่ที่ศาล ซึ่งอาจจะมีคนติดคุก แล้วเหตุใด รฟม. จึงใช้เกณฑ์นี้ดำเนินการอีกและใครจะได้ประโยชน์จากการใช้เกณฑ์นี้
ขณะที่เกณฑ์ประมูลสีม่วงใต้ หากการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านราคามีข้อเสียดังนี้ 1. รฟม. อาจต้องเสียค่าก่อสร้างมากกว่าเนื่องจากผู้รับเหมาที่เสนอราคาต่ำสุดอาจไม่ได้รับพิจารณา 2. ล็อกผู้รับเหมาได้ง่าย เพราะหากกรรมการคัดเลือกต้องการช่วยผู้รับเหมารายใดรายหนึ่งสามารถทำได้ง่าย
เนื่องจากมีการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านราคา หากเห็นว่าผู้รับเหมารายนั้นเสนอราคาค่าก่อสร้างสูงซึ่งจะทำให้ได้คะแนนด้านราคาต่ำกว่าก็จะเพิ่มคะแนนด้านเทคนิคให้มากขึ้น ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์ทีโออาร์ดังกล่าว
แหล่งข่าวจากรฟม.ระบุว่าการเปิดขายซอง สายสีม่วงใต้คาดว่าจะมีผู้รับเหมาให้ความสนใจซื้อซองไม่น้อยกว่า20รายซึ่งประเมินว่าไม่ต่างจาก ประมูลงานโยธาสายสีส้มตะวันออก อย่างไรก็ตามการใช้เกณฑ์ทีโออาร์ใหม่ เป็นสิทธิที่ทำได้เพราะรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เป็นโครงการขนาดใหญ่ผ่านใจกลางเมืองและผ่านจุดอ่อนไหว สถานที่สำคัญหลายแห่ง
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวม 23.6 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานี 17 สถานี แบ่งเป็นใต้ดิน 10 สถานี ระยะทาง 13.6 กิโลเมตร และ 7 สถานียกระดับ ระยะทาง 10 กิโลเมตร เป็นการดำเนินการตาม ระราชบัญญัติ (พรบ.) การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 และแนวทางการประกวดราคานานาชาติ (International Competitive Bidding-ICB) แบ่งประมูลทั้งสิ้น 6 สัญญา จะประมูลรวดเดียวทั้ง 6 สัญญาพร้อมกัน ประกอบด้วย
สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 4.9 กม. จำนวนสถานีใต้ดิน 3 สถานี ราคากลาง 18,574.868 ล้านบาท
สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า ระยะทาง 2.3 กม. จำนวนสถานีใต้ดิน 3 สถานี ราคากลาง 15,155 ล้านบาท
สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ ระยะทาง 3.1 กม. จำนวนสถานีใต้ดิน 2 สถานี ราคากลาง 14,452.35 ล้านบาท
สัญญาที่ 4 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง ระยะทาง 4 กม. จำนวนสถานีใต้ดิน 2 สถานี ราคากลาง 14,337 ล้านบาท
สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับช่วงดาวคะนอง-ครุใน ระยะทาง 9.3 กม. จำนวนสถานียกระดับ 7 สถานี พร้อมอาคารจอดรถไฟฟ้าและอาคารจอดแล้วจร ราคากลาง 12,769 ล้านบาท
และสัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างวางระบบรางรถไฟฟ้าตลอดแนวเส้นทางและภายในอาคารจอดรถไฟฟ้า ราคากลาง 3,423 ล้านบาท