"ดีพร้อม"ติวเข้มเอสเอ็มอีเพิ่มโอกาสขอสินเชื่อลดพึ่งพาหนี้นอกระบบ

08 ส.ค. 2564 | 11:37 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2564 | 18:36 น.

ดีพร้อมติวเข้มเอสเอ็มอีเพิ่มโอกาสขอสินเชื่อลดพึ่งพาหนี้นอกระบบจัดหลักสูตรเร่งด่วนถอดบทเรียนเซียน เรื่องหนี้บริหารเงินดี มีทางรอด รุ่นที่ 3 ตามนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการเร่งด่วนใน 60 วัน

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม  เปิดเผยว่า จากแนวทางนโยบายโควิด 2.0 ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเร่งด่วนใน 60 วัน พร้อมสู้ อยู่ได้ ไปรอด ดีพร้อม ได้เดินหน้า ร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เร่งให้ความรู้กับผู้ประกอบการด้านการเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปเตรียมเอกสารหรือหลักฐานที่ใช้ในการขอสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจโดยจัดทำ ภายใต้โครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการด้านการเงินในการดำเนินธุรกิจใหม่ หรือ Financial Literacy ปัจจุบันได้ดำเนินการจัดกิจกรรมฝึกอบรม หลักสูตรถอดบทเรียนเซียน เรื่องหนี้ บริหารเงินดี มีทางรอด ซึ่งถือเป็น รุ่นที่ 3 ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการบริหารด้านการจัดการธุรกิจและการเงินชั้นนำ(สถาบัน KCT) 
สำหรับหลักสูตร ถอดบทเรียนเซียน เรื่องหนี้ บริหารเงินดี มีทางรอด รุ่นที่ 3 นี้ จะให้ความรู้ใน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.ขอสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และการบริหารจัดการหนี้ ,2.เคล็ดวิชาแก้หนี้ ฝ่าวิกฤตด้านการเงินช่วงโควิด ,3.หลักการบริหารการเงินเพื่อความมั่นคง และ4.แชร์ประสบการณ์ ปั้นธุรกิจฝ่าวิกฤตจากจุดที่ติดลบ 

อย่างไรก็ดี หลักสูตรดังกล่าวนี้ จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาและมีภาระด้านสินเชื่อธุรกิจให้ได้มีความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการหนี้ รวมถึงการบริหารจัดการเงินได้อย่างคุ้มค่า เพื่อเพิ่มโอกาสในการประคองธุรกิจให้อยู่รอด ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งตอบโจทย์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) และจะส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจใหม่และผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และผู้ประกอบการที่ต้องการขยายธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ยังสามารถขอรับการพิจารณาสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนฯ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และขอรับคำปรึกษาแนะนำผ่านระบบออนไลน์กับทางศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SSRC) สำหรับปัญหาต่าง ๆ ทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ภาระด้านหนี้ การขาดสภาพคล่อง การตรวจสุขภาพทางการเงินในการดำเนินธุรกิจ โดยคาดการณ์ว่าหลักสูตรดังกล่าวจะสามารถเป็นแนวทางช่วยให้ผู้ประกอบการนำไปแก้ปัญหาภาระหนี้สิน ได้กว่า 50 กิจการ มูลค่ากว่า 25 ล้านบาท