นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” วันนี้ (วันที่ 10 สิงหาคม 2564) ได้ยื่นหนังสือผ่าน นายบุญธรรม แดงเครือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำเนา นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต3 พรรคประชาธิปัตย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กระทรวงได้ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบๆ มี 2 เรื่อง ด้วยกัน
เรื่องที่1 โรคระบาดในโคและกระบือ คือ "โรคลัมปีสกิน" ได้ทำให้เกิดความเสียหาย สัตว์ป่วยล้มตายและสูญเสียอาชีพขาดรายได้เดือดร้อนอย่างหนัก จึงขอเรียกร้องให้มีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคและกระบือ การป้องกันและการรักษาโรครวมทั้งการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อบรรเทาปัญหาทำให้พี่น้องชาวสวนมะพร้าวได้มีอาชีพ และรายได้เลี้ยงครอบครัวเหลืออยู่บ้าง
เรื่องที่2 การแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ ในขณะนี้มะพร้าวผลลูกลง 5- 6 บาท การรับซื้อมะพร้าวขาวเหลือกิโลละ 11 - 12 บาท มีการจำกัดการรับซื้อ ทำให้เดือดร้อนราคาต่ำกว่าต้นทุนมาก ที่ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้คิดต้นทุนไว้ และได้มีการเสนอแนะแนวทางเพื่อหามาตรการการพยุงราคามะพร้าวในประเทศให้ดีขึ้น
เช่น การยุตินำเข้ามะพร้าวผล และผลิตภัณฑ์มะพร้าวทุกกรอบ การปรับปรุงกฎระเบียบให้เข้มข้นและรัดกุบจากข้อมูลจากกรมศุลกากร ในเดือน มราคม - พฤษภาคม พ.ศ. 2564 มีการนำเข้ากะทิสำเร็จรูป 18,636,150 กิโลกรัม และการนำเข้าน้ำกะทิแช่แข็ง 9.108,210 กิโลกรัม ซึ่งขอให้ยุติการนำเข้าน้ำกะทิไว้ก่อน แล้วหันมาใช้มะพร้าวภายในประเทศ ซึ่งมีคุณภาพดีกว่า
รวมทั้งให้ใช้วิธีการเจรจากับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกะทิหันมาใช้มะพร้าวในประเทศ ให้ราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ และทางเครือข่ายไม่เห็นด้วยกับโครงการแทรกแซงมะพร้าวแห้ง เพราะทำให้ประเทศชาติเสียหายเป็นการแก้ไขไม่ถูกต้องไม่ตรงกับปัญหา จึงเรียนมาเพื่อขอความช่วยเหลือ และให้แก้ไขไทยเร่งด่วน และแจ้งผลให้ทราบภายใน 10 วัน
ด้านนาย วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เกิดจาก 1. เป็นช่วงปกติของมะพร้าว ในช่วงนี้ผลผลิตจะมีมากสุด 2. มีตลาดหลายแห่งโดนปิด เรื่องของโควิด ทำให้แหล่งระบายสินค้าของเกษตรกรลดลง ซึ่งเกษตรกรก็พยายามที่จะดันผลผลิตนี้เข้าโรงงาน ขณะเดียวกันโรงงานเองก็มีสวนใหญ่จะมีเกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง จากเกษตรกรอยู่แล้วก็พยายามจะช่วยรับจากเกษตรกรรายย่อยจากนอกโครงการเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่เท่าไร เพราะหลายโรงงานก็มีปัญหาเพราะพนักงานติดโควิดต้องหยุดงาน และมีกำลังการผลิตที่ไม่สามารถทำได้เต็มที่ จะเห็นว่าปัญหาทับถมกัน
ปัจจุบันโรงงานก็พยายามช่วยกันอยู่ แต่ช่วยทำเต็มที่ได้เท่าที่จะทำได้เพราะไม่สามารถเดินได้เต็มกำลังการผลิต ถึงแม้ว่าจะผลิตแล้วก็ไม่ได้ส่งออกได้ง่ายๆ เพราะค่าระวางเรือแพงมาก ทำให้ลูกค้าปลายทางขอชะลอออร์เดอร์การส่งมอบ เรียกว่าปัญหามีตลอดทุกห่วงโซ่ สำคัญอย่างยิ่งในตอนนี้ว่าต้องให้กำลังใจเกษตรกรและโรงงานที่เจอการติดเชื้อจะต้องใช้มาตรการ "บับเบิล แอนด์ ซีล" ขอให้ภาครัฐเข้าใจว่าไม่สามารถที่จะใช้วิธีสั่งปิดโรงงานอย่างเดียวได้ เพราะจะกระทบไปถึง "เกษตรกร"