นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปี 2562) ประเทศไทยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) รวมกันทั้งสิ้นมากกว่า 3 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนมากถึง99.53% ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด และก่อให้เกิดการจ้างงานมากถึง 69.48% ของการจ้างงานในประเทศ และในจำนวนนี้ พบว่า เป็นผู้ประกอบการสตรีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสตรีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการสำรวจของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เอเปก)
ที่มีจำนวน MSMEs คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 97% ของธุรกิจทั้งหมด ครอบคลุมการจ้างงานมากกว่า50% และเป็นผู้ประกอบการสตรีเป็นส่วนมาก ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตและนวัตกรรมที่สำคัญในเอเปก
ทั้งนี้ จากการติดตามการส่งออกจากผู้ประกอบการ MSMEs และผู้ประกอบการสตรีดังกล่าว พบว่า มีไม่ถึง 35% ซึ่งอาจตีความได้ว่า MSMEs และผู้ประกอบการสตรี ยังไม่ได้รับประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่และไม่สามารถเข้าถึงห่วงโซ่คุณค่าโลกได้ และผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ยังส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อทั้งผู้ประกอบการ MSMEs และสตรี
โดยจากผลการสำรวจ MSMEs จำนวน 1,000 ราย ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในปี 2563 พบว่ากว่าร้อยละ 75 ต้องหยุดกิจการลง ทั้งจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ โดยเฉพาะด้านเงินทุนและผลประกอบการ ขณะที่รายงานจากองค์การอ็อกแฟม (Oxfam International) ระบุว่า ในปีดังกล่าว สตรีทั่วโลกต้องสูญเสียรายได้มากกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้นับเป็นความท้าทายเพิ่มเติมของนานาประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่จำเป็นต้องช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการดังกล่าว ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการพลิกฟื้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้โลกการค้าปัจจุบัน
ทั้งนี้การส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการ MSMEs และผู้ประกอบการสตรี เป็นหนึ่งในนโยบายที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญ และต้องการให้ไทยเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกในปี 2565 ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และขับเคลื่อนนโยบาย มาตรการ และแผนงานโครงการต่าง ๆ ที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุน MSMEs และผู้ประกอบการสตรี
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ในกรอบเอเปกได้ให้ความสำคัญกับ MSMEs และสตรีมาโดยตลอด ในการพัฒนาและสร้างขีดความสามารถของ MSMEs ด้านการค้าระหว่างประเทศ และเห็นว่าในส่วนของไทย ควรส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ MSMEs ในด้านการเข้าถึงข้อมูลเพื่อตัดสินใจเชิงธุรกิจ การพัฒนาความสามารถทางดิจิทัล ตลอดจนการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านการประกอบธุรกิจ เป็นต้น เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการ MSMEs ได้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าไทยต่อไป