ประกันรายได้ปาล์ม ปี 3 เสนอกนป.กำหนดราคาเป้าหมาย 4 บาทต่อกก.

12 ส.ค. 2564 | 22:59 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2565 | 11:50 น.

ประกันรายได้ปาล์ม ปีที่ 3 พาณิชย์ เตรียมเสนอ กนป. กำหนดราคาเป้าหมายที่  4 บาทต่อกก. เงื่อนไขไม่เกินครัวเรือนละ 25 ไร่ จ่ายงวดแรก 15 ก.ย. 2564 พร้อมขยายเวลา โครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม สนับสนุนค่าบริหารจัดการให้ผู้ส่งออก กก.ละ 2 บาท

ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน ล่าสุดนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า จะเดินหน้าโครงการต่อ โดยคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด เห็นชอบให้เสนอคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) พิจารณาโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน ปี 3 

เงื่อนไขรประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน ปี 3

  • กำหนดราคาเป้าหมาย 4 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) 
  • เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรจะได้รับความช่วยเหลือทุกครัวเรือนตามพื้นที่ ๆ ปลูกจริง แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ไร่ 
  • ต้องเป็นพื้นที่ปลูกต้นปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้ว มีอายุ 3 ปีขึ้นไป 
  • ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ก.ย. 2564-ก.ย.2565 
  • จ่ายงวดที่ 1 วันที่ 15 ก.ย. 2564 
  • งบประมาณ 7,660 ล้านบาท

ปาล์มน้ำมัน

นอกจากการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน ปี 3 แล้ว รัฐบาลจะมีมาตรการเสริมคู่ขนาน เพื่อแก้ไขปัญหาสต็อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน โดยจะสนับสนุนค่าบริหารจัดการให้ผู้ส่งออก กก.ละ 2 บาท เพื่อผลักดันน้ำมันปาล์มดิบออกไปตลาดต่างประเทศ ด้วยการขยายระยะเวลาโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2564 จากเดิมสิ้นสุดระยะเวลาส่งออกเดือน ก.ย. 2564 เป็น ธ.ค. 2564 และขยายเวลาโครงการจากเดือน ธ.ค.2564 เป็น มี.ค. 2565 ภายใต้เป้าหมายเดิมที่ 300,000 ตัน และในปี 2565 เป้าหมาย 150,000 ตัน

งบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม จะมาจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร วงเงิน 300 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการโครงการดังกล่าว มีเงื่อนไขพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการการส่งออก เมื่อระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า โครงการประกันรายได้ของรัฐบาลชุดนี้ จะเดินหน้าปีที่ 3 ทั้งหมดในพืชหลัก 5 ชนิด ซึ่งจะทยอยทำการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง หลังจากพืชแต่ละชนิดจบโครงการปีที่ 2 และจะนำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อขออนุมัติต่อไป เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ในโครงการกว่า 7.69 ล้านครัวเรือน ที่ปลูกพืชหลัก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนพืชเกษตรอื่น ๆ จะมีมาตรการอื่นในการเข้ามาดูแล ซึ่งยืนยันว่ามีการดูแลทั่วถึงแน่นอน