ชงนายกฯเปิดข้อพิรุธ ประมูล2รถไฟทางคู่ “เหนือ-อีสาน” 1.28 แสนล้าน

13 ส.ค. 2564 | 05:33 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2564 | 12:38 น.

สหภาพฯ รถไฟ-ดร.สามารถ จับพิรุธประมูลรถไฟทางคู่เหนือ-อีสาน หลังรฟท.ปรับเกณฑ์ทีโออาร์รวบ 3 สัญญา เปิดประมูลราคาห่างกันเฉียดฉิว แนะทางออกเปิดประมูลใหม่ เร่งคณะกรรมการฯสอบ หวั่นฮั้วประมูล ด้านแหล่งข่าวทำเนียบฯ เผย เร่งหาข้อสรุป คาดชงนายกฯ รับทราบ ส.ค.นี้

ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่อง การประมูลรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของและทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม รวมวงเงิน 1.28 แสนล้านบาท ส่อไปในทางที่ไม่ชอบมาพากล รวมทั้งได้เรียกตัวผู้ที่ร้องเรียนและผู้เกี่ยวข้องนั้น 

 

นายสาวิทย์แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานการรถไฟการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องการประมูลรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของและโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม รวมวงเงิน 1.28 แสนล้านบาท รวมทั้งได้เรียกตัวผู้ที่ร้องเรียนและผู้เกี่ยวข้องนั้น เบื้องต้นทางสหภาพฯได้ให้ข้อมูลถึงการประมูลโครงการดังกล่าวส่อพิรุธ เช่น การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) ทางรฟท.ได้มีการปรับเปลี่ยนการแบ่งสัญญา 6+1 ของซูปเปอร์บอร์ด เป็น 3 สัญญา และการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ตามมติที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติรอบแรก ทำให้กลายเป็นข้อถกเถียงว่าทำไมรฟท.ถึงมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลดังกล่าว รวมทั้งการประมูลราคากลางแต่ละสัญญาที่เฉียดฉิว โดยสายเหนือราคากลาง 72,918 ล้านบาท ผลราคาที่ประมูล 72,858 ล้านบาท ลดลงเพียง 60 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% เท่านั้น ส่วนสายอีสาน ราคากลาง 55,456 ล้านบาท ผลราคาประมูลที่ 55,410 ล้านบาท ลดลงแค่ 46 ล้านบาทเท่านั้น คิดเป็น 0.08% เท่ากันในทุกสัญญา

 

 

ขณะเดียวกันการประมูลในครั้งนี้ รฟท.ได้ผูกสัญญาระบบอาณัติสัญญาณกับบริษัทที่เป็นผู้เลือกและให้เสนอผู้เข้าร่วมการประมูลไม่เกิน 2 ราย หากบริษัทใดชนะการประมูลจะเลือกบริษัทที่มีการเสนอราคาต่ำสุด ซึ่งสัญญาระบบอาณัติสัญญาณถือเป็นสัญญาที่มีความสำคัญต่อระบบการเดินรถ แต่รฟท.กลับไม่มีโอกาสการเจรจาต่อรองว่าบริษัทใดที่จะเข้ามาประมูลและให้ผลประโยชน์ดีที่สุด

 

“สำหรับการประมูลทั้ง 2 โครงการฯ เป็นการฮั้วประมูลหรือไม่นั้น เรายังไม่กล้าฟันธง แต่อยากให้มีการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนก่อนที่จะมีการลงนามสัญญาโครงการฯ ทั้งนี้ควรตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 คณะ เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ให้มีความโปร่งใสสามารถตอบคำถามต่อสังคมได้ หากตรวจสอบและพบข้อพิรุธในโครงการฯจริง เราคิดว่าการประมูลใหม่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะกลับไปใช้การประมูลในรูปแบบเดิม เนื่องจากที่ผ่านมารฟท.เคยแบ่งสัญญา 6+1 และเสนอคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดนี้ขึ้นมา เชื่อว่าการประมูลนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อให้รฟท.ประหยัดงบประมาณโครงการฯ และเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมากที่สุด ทั้งนี้เรายืนยันไม่ได้ต้องการที่จะล้มโครงการฯ”

นายสาวิทย์ กล่าวต่อว่า หากโครงการดังกล่าวมีการล้มประมูลจะเกิดความล่าช้าต่อโครงการฯหรือไม่ ทางสหภาพฯ เชื่อว่าจะไม่ล่าช้า เนื่องจากที่ผ่านมารฟท.ไม่ได้มีการเปลี่ยนรายละเอียดเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) ทางด้านเทคนิค แต่มีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะเงื่อนไขการประมูลเท่านั้น เพียงแค่ปรับสัญญาจาก 3 สัญญา เป็น 7 สัญญาตามเดิม เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาแข่งขันกันได้โดยตรง

 

 

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ชี้แจงคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายอีสานช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ว่า สาเหตุที่ทำให้การประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสานมีราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเท่ากันคือแค่ 0.08% เท่านั้น เกิดจากการแก้ทีโออาร์ ไม่นำทีโออาร์การประมูลรถไฟทางคู่สายใต้มาใช้ ซึ่งสายใต้มีราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางถึง 5.66% ถ้าสายเหนือและสายอีสานสามารถประหยัดได้ 5.66% จะคิดเป็นเงินจำนวนมากถึงกว่า 7,200 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับการประมูลรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ของการรถไฟฯ หน่วยงานเดียวกัน ซึ่งแบ่งการประมูลงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา โดยได้แยกประมูลงานระบบอาณัติสัญญาณออกจากงานโยธา ปรากฏว่าสามารถประหยัดค่าก่อสร้างได้ถึง 14.65% คิดเป็นเงินจำนวนมากถึง 17,353 ล้านบาท

 

 

ดร.สามารถ กล่าวต่อว่า การขอเปลี่ยนทีโออาร์ตามหนังสือของกระทรวงคมนาคม ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 จากเดิมที่เคยแบ่งการประมูลสายเหนือออกเป็นสัญญา 7 สัญญา ประกอบด้วยงานโยธาและระบบราง 6 สัญญา และงานระบบอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา เหลือเพียง 3 สัญญา โดยรวมประมูลงานระบบอาณัติสัญญาณเข้ากับงานโยธา อาจเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 4, 9, 10, 11, และ 12 แห่ง พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบอาณัติสัญญาณนั้น

“เราได้เสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณา กรณีรฟท. กำหนดให้ผู้รับเหมาเสนอระบบอาณัติสัญญาณได้ไม่เกิน 2 ราย หากผู้รับเหมาเสนอ 2 รายและเขาชนะการประมูล เขาอาจเลือกใช้ยี่ห้อที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งจะทำให้การรถไฟฯ เสียผลประโยชน์ และจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมาหรือไม่ ทั้งนี้ขอให้คณะกรรมการฯ ไปตรวจสอบว่า รฟท. เคยประมูลราคารางเหล็ก มีผู้เสนอรายหนึ่งเสนอโรงงานผลิตรางมาหลายโรงงาน ปรากฏว่ามีราคาต่ำสุด ในขณะที่ผู้เสนอรายอื่นทุกรายเสนอมาเพียงโรงงานเดียว จึงร้องเรียนมาที่รฟท. ซึ่งรฟท. ได้สอบถามไปที่กรมบัญชีกลาง กรมบัญชีกลางให้ความเห็นว่าการเสนอราคาหลายโรงงานมาหลายโรงงานเป็นการเสนอแบบเผื่อเลือก ซึ่งไม่สามารถทำได้ ในที่สุดรฟท. ต้องยกเลิกการประมูลครั้งนั้น”

 

 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า กรณีที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องการประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน ทั้ง 2 เส้นทาง นั้น เบื้องต้นคณะกรรมการฯดังกล่าวได้มีการประชุมไปแล้วถึง 2 ครั้ง โดยที่ประชุมมีมติให้ผู้ที่กล่าวหาหรือผู้ที่มีหนังสือร้องเรียนให้ทบทวนรายละเอียดเพื่อชี้แจงต่อคณะกรรมการฯ โดยคณะกรรมการฯต้องตรวจสอบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างไร หากได้ข้อสรุปแล้วคาดว่าจะรายงานต่อนายกรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคมนี้

 

“ส่วนจะมีการชะลอการประมูลหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เนื่องจากเราต้องรอผลการตรวจสอบว่าเป็นไปตามที่มีการกล่าวหากันหรือไม่ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้คณะกรรมการฯชุดดังกล่าวเร่งตรวจสอบเรื่องการประมูลโครงการฯให้มีความชัดเจน ได้ข้อเท็จจริงและข้อยุติโดยเร็ว” 

 

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการฯอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเท็จจริง โดยให้ผู้ที่กล่าวหารและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการฯ เร่งชี้แจงเพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว หลังจากนั้นที่ประชุมจะพิจารณาข้อเท็จจริงในสัญญาการประกวดราคาในการประมูลโครงการฯต่อไป

 

ข่าวหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ