วันนี้ (5 ก.ค.2564) องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ออกแถลงการณ์ เรื่อง “ความจริงใจในการทบทวนการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน” โดยเนื้อหาในแถลงกาณ์ระบุ ว่า
ก่อนอื่นใดองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน 3 กรณีสำคัญในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คือ ทบทวนการแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ แสดงจุดยืนคัดค้าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 144 และ มาตรา 185 และการมีมติ ครม. กำหนดทุกหน่วยงานรัฐต้องใช้ “ข้อตกลงคุณธรรม” ในการจัดซื้อจัดจ้างตามกฎหมายทุกประเภท
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สังคมยังมีความแคลงใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน รวม 5 สัญญา ที่เกิดข้อครหาว่า มีการล็อคสเปก ฮั้วประมูล และเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม
โดยตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนการประมูลครั้งนี้ได้มียกเลิกมาตรการป้องกันคอร์รัปชัน ที่ ครม.เคยมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่วางกรอบแนวทางส่งเสริมให้มีการแข่งขันราคาอย่างเสรีไว้ชัดเจนดีแล้ว ส่งผลให้ทีโออาร์และกติกาการประมูลครั้งนี้เปลี่ยนแปลงไปหลายประการ และนำไปสู่ข้อครหาที่น่าอัปยศอดสูดังกล่าว
การยกเลิกมาตรการป้องกันคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างฯ และพฤติกรรมที่ปรากฏในการประมูลครั้งนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานในอนาคตของ “การคอร์รัปชันที่ถูกต้องตามขั้นตอน” ที่ส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและนานาชาติ ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ทั้งวาระแห่งชาติ ในการต่อต้านคอร์รัปชัน ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ
ทั้งหมดนี้ย่อมเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ที่จะส่งผลต่อการประเมินดัชนีคอร์รัปชันโลก (CPI) และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การเสื่อมศรัทธาต่อคณะรัฐบาลที่เคยวางตัวเป็นความคาดหวังของสังคม
ไม่มีความเลวร้ายใดจะส่งผลถึงการคดโกงชาติ เท่ากับการปล่อยให้มีระบบอุปถัมภ์ การให้โอกาสพวกพ้องอย่างไม่คำนึงถึงผลเสีย ที่จะตกถึงคนส่วนใหญ่ของชาติ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จึงใคร่เรียนขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ที่มีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบการใช้อำนาจบริหาร ได้โปรดพิจารณาสั่งการให้มีการทบทวนการประมูลดังกล่าวอย่างละเอียดรอบคอบ และสมเหตุสมผลด้วยความจริงใจจริงจัง
พร้อมนำมาตรการป้องกันคอร์รัปชันที่เหมาะสมชัดเจนมาใช้ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินอย่างมีจุดยืนที่มั่นคง ด้วยศักดิ์ศรีของผู้นำที่ยึดมั่นในความสุจริตเป็นกลางอย่างที่สุด ก่อนที่สังคมจะเปลี่ยนจากวิกฤติศรัทธาเป็นการเคลื่อนไหวที่ประชาชนต้องลุกมาดูแลผลประโยชน์ของชาติด้วยตนเอง