ตะลึง ส่งออกอาหารแมวแซงอาหารคน ไทยผงาดจ่อท็อปทรีโลก

16 ส.ค. 2564 | 08:29 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2564 | 15:48 น.

ปี 2563 ที่มีสถาน การณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกเป็นปีแรก หลายประเทศมีการล็อกดาวน์ ผู้คนอยู่กับบ้าน ทำงาน work from home มากขึ้น สินค้าทูน่ากระป๋องในฐานะประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับ 1 ของโลกขายดิบขายดี

 

ทั้งนี้จากทูน่ากระป๋องเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพที่ต้องมีติดไว้ในครัวเรือนกันเกือบทุกบ้าน ส่งผลทำมูลค่าส่งออกได้ถึง 69,957.62 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.1%

 

มาถึงปี 2564 สถานการณ์แปรเปลี่ยน ประเทศผู้นำเข้าหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แคนาดา และหลายประเทศในตะวันออกกลาง และยุโรปที่เป็นลูกค้าหลักเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากที่ได้มีการะดมฉีดวัคซีนโควิด ทำให้ผู้คนและภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และใช้ชีวิตได้ตามปกติและสามารถออกไปทานอาหารนอกบ้านได้มากขึ้น ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าทูน่าจากประเทศไทยปรับตัวลดลง ตัวเลขการส่งออกช่วง 6 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่า 26,815.41 ล้านบาท ขยายตัวลดลง -26.85% (กราฟิกประกอบ)

 

ผู้ผลิตและส่งออกทูน่ากระป๋องเบอร์ 1 ของโลกอย่าง บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู ออกมายอมรับว่า แม้ยอดขายและกำไรในภาพรวมของบริษัทในไตรมาสที่ 2/2564 และครึ่งแรกของปีนี้จะเพิ่มขึ้น แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในบางประเทศเริ่มคลี่คลายลง และผู้บริโภคเริ่มกลับมามามีกิจกรรมต่าง ๆ นอกบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ยอดขายของธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋องของบริษัทลดลง 6.8% คิดเป็นมูลค่า 15,272 ล้านบาท

 

ชนินทร์  ชลิศราพงศ์

 

นายชนินทร์  ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์ทูน่ากระป๋องจากประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวลดลงในปีนี้ ผลสืบเนื่องจากหลายประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา ที่เป็นตลาดใหญ่สุด มีความต้องการสินค้าลดลง จากยังมีสต๊อกคงเหลือในปีที่ผ่านมา ขณะที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันสามารถออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีการทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการทูน่ากระป๋องเพื่อไว้ทานในบ้านลดลง สรุปคือเวลานี้หลายตลาดยังอิ่มตัว

 

 “ช่วงนี้ผู้บริโภคในบางตลาด หลังกลับมาเปิดประเทศและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ก็เบื่อทำอาหารกินเองที่บ้าน ก็อยากจะออกไปทานอาหารอื่นข้างนอก จากร้านอาหารเปิด ปีนี้มองการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยจะติดลบ 10-15%  ซึ่งในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ตลาดจะกลับมาหรือไม่ ก็คิดว่าน่าจะกลับมา แต่คงไม่ได้โตหวือหวาเหมือนปีที่แล้ว ขณะที่สินค้าทูน่าเป็นสินค้าบริโภคพื้นฐาน กำไรไม่เยอะก็คงจะประคองกันไป”

 

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการส่งออกสินค้าทูน่าที่ปรับตัวลดลง ยังโชคดีที่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องจากทูน่า คืออาหารสัตว์เลี้ยงยังมีทิศทางการผลิตและส่งออกที่ดี และขยายตัวสูง จากในช่วงสถานการณ์โควิดคนอยู่บ้านมากขึ้นและเลี้ยงสุนัขและแมว รวมถึงสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เป็นเพื่อนคลายเหงามากขึ้น ซึ่งสัตว์เลี้ยงนี้ต้องให้กินอาหารที่ดี ๆ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และมีสุขภาพที่ดีไม่เจ็บป่วย เพราะพูดไม่ได้หากเป็นอะไร ต้องเสียค่ารักษาที่แพง ปัจจุบันอาหารสัตว์เลี้ยงเมื่อเทียบกับอาหารคนถือว่ามีราคาและมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่า  และตลาดกำลังโตวันโตคืน

 

เห็นได้จากในปี 2563 ไทยสามารถส่งออกส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง (มีอาหารสุนัขและแมวเป็นหลัก) มูลค่าสูงถึง 62,286.76 ล้านบาท ขยายตัวถึง 18.80% เมื่อเทียบกับปีก่อน และช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ส่งออกได้มูลค่า 36,581.67 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 20.56% ซึ่งหากเทียบกับการส่งออกทูน่ากระป๋องช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ (ส่งออกได้ 26,815.41 ล้านบาท) ถือว่าอาหารสัตว์เลี้ยงได้แซงทูน่ากระป๋องที่เป็นอาหารคนไปแล้ว

 

ตะลึง ส่งออกอาหารแมวแซงอาหารคน ไทยผงาดจ่อท็อปทรีโลก

 

นายชนินทร์  ชลิศราพงศ์  ในฐานะนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง กล่าวว่า แนวโน้มคนอยู่บ้านมากขึ้น คนแต่งงานลดลง ทำให้ผู้คนทั่วโลกเอาสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงเป็นเพื่อนและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมากขึ้น ทำให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโตตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นโชคดีที่ผู้ประกอบการทูน่าของไทย และเป็นสมาชิกของสมาคมอาหารสัตว์เลี้ยงไทยด้วย (มีสมาชิก 11 ราย)  เกือบทุกโรงเวลานี้ได้เพิ่มไลน์ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง โดยนำวัตถุดิบส่วนเหลือจากการผลิตทูน่ากระป๋องนำมาผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกสำหรับสุนัขหรือแมวที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสมเพื่อส่งออกกันทุกโรง

 

ตะลึง ส่งออกอาหารแมวแซงอาหารคน ไทยผงาดจ่อท็อปทรีโลก

 

 “ตัวเลขการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงกับอาหารคน (ทูน่ากระป๋อง) เวลานี้ใกล้เคียงกันแล้ว แต่อาหารแมวมีมาร์จิ้นเยอะกว่า และผลิตยากกว่า เพราะแมว Sensitive กินไม่เยอะ แต่กินหรูหรา สินค้าราคาสูงกว่าทูน่ากระป๋อง ทำให้ตัวเลขส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยวโต 2 หลักต่อเนื่องกันมา 22 เดือนแล้ว ดังนั้นแม้การส่งออกทูน่ากระป๋องปีนี้จะลดลง แต่ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโต ทำให้ผู้ประกอบการในปีนี้ยังมีกำไร ยิ่งบาทอ่อนค่ามากสุดรอบ 3 ปีเวลานี้แตะที่ 33 บาท ทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้ดีขึ้น มีโอกาสที่ปีนี้ไทยจะขยับขึ้นเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงใน 3 อันดับแรกของโลกได้” นายชนินทร์ กล่าว

 

อนึ่ง ในปี 2563 ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก รองจากเยอรมนี ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ซึ่งปีนี้จะผงาดขึ้นท็อปทรีได้หรือไม่น่าติดตามอย่างยิ่ง

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3705 วันที่ 15-18 ส.ค. 2564