นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรร่วมกับกองทัพอากาศ กองทัพบก ได้สนับสนุนอากาศยานและกำลังพล ร่วมปฏิบัติการฝนหลวงในปี 2564 ใน 2 ภารกิจหลัก คือ การบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร และเติมน้ำต้นทุนให้กับลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยไม่มีวันหยุดราชการ และไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์
โดยในขณะนี้เข้าสู่ช่วงกลางฤดูฝนแล้วแต่จะเห็นได้ว่าปริมาณฝนในเชิงปริมาณและการกระจายตัวของฝนถือว่าไม่ค่อยดีนัก เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาจะมีร่องมรสุมหรือร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านมาจากบริเวณภาคเหนือไล่ลงไปสู่ภาคใต้ ซึ่งทำให้เกิดปริมาณฝนกระจายตัวค่อนข้างมาก แต่ในปีนี้จะเห็นได้ว่าร่องมรสุมดังกล่าวแทบจะไม่ปรากฏว่าพาดผ่านเข้ามาในประเทศไทย จึงทำให้หลายพื้นที่มีปริมาณฝนน้อยกว่า 10 มิลลิเมตร ประชาชนประสบปัญหาพื้นที่การเกษตรมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ โดยเฉพาภาคเหนือตอนบนถึงตอนล่าง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่าง รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ก็ยังประสบปัญหาน้ำฝนน้อยเช่นเดียวกัน
ขณะที่แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% มีจำนวน 16 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดกลางอีก 98 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่งผลให้ขณะนี้มีการขอรับบริการฝนหลวงรวม 686 แห่ง ครอบคลุม 48 จังหวัด 362 อำเภอ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศ ข้อมูลปริมาณน้ำฝน รวมทั้งความชื้นในดิน ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ และข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวงมาวิเคราะห์ปรับแผนให้สอดคล้องในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ให้ได้มีปริมาณน้ำมากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำต้นทุนไว้สำรองใช้ในฤดูแล้งต่อไป
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (2-6 ส.ค.64) ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงต่อเนื่อง ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ยโสธร สระแก้ว เพิ่มปริมาณน้ำให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก อ่างเก็บน้ำห้วยยาง อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่(วังแขม) อ่างเก็บน้ำซับตะเคียน อ่างเก็บน้ำห้วยนา อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง อ่างเก็บน้ำป่าเลา และบึงบอระเพ็ด เป็นต้น
“กรมฝนหลวงและการบินเกษตร วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยทั้ง 13 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงกระจายอยู่ทุกภูมิภาคยังคงปฏิบัติงานเฝ้าติดตามสภาพอากาศตลอดเวลา หากสภาพอากาศเอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวงก็พร้อมขึ้นบินปฏิบัติการทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและช่วยภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนต่างๆ ให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนมีการใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างต่อเนื่อง ส่วนเกษตรกรควรประสานงานกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานเพื่อบริหารจัดการน้ำร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิต” นายสุรสีห์ กล่าว