นบข.กุมขมับ ราคาข้าวไทย "ข้าวขาว-หอมมะลิ" ต่ำสุดรอบ 2-4 ปี ยังขายไม่ได้

23 ส.ค. 2564 | 10:36 น.

ผงะ ส่งออกข้าวไทย ตกที่นั่งลำบาก ราคาข้าวไทย "ข้าวขาว-หอมมะลิ" ต่ำสุดรอบ 2-4 ปี ยังขายไม่ได้ พ่ายต้นทุนค่าขนส่งสูงลิ่ว ส่งสัญญาณแล้วส่งออกข้าวไม่ถึง 6 ล้านตัน ฟันธง

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา  หรือ United States Department of Agriculture (USDA) รายงานการผลิตข้าวโลก ปีการผลิต 2564/65 คาดว่าผลผลิตข้าวโลกจะมีประมาณ 506.04 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.10 ล้านตัน หรือร้อยละ 0.22 จากปีก่อน 2563/64 ที่มีปริมาณ 504.94 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตข้าวในประเทศของผู้ผลิต เช่น จีน บังกลาเทศ ไทย เมียนมา ปากีสถาน บราซิล และกัมพูชา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

ส่วนการบริโภคข้าวโลก คาดว่าจะมีประมาณ 513.99 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.13 ล้านตัน หรือร้อยละ 1.21 จากปี 2563/64 ที่มีปริมาณ 507.86 ล้านตัน ข้าวสาร เนื่องจากการบริโภคข้าวในประเทศ อาทิ จีน อินเดีย บังกลาเทศ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไทย เมียนมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

สต๊อกข้าวโลก ปลายปี คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 166.98 ล้านตัน ลดลง 7.94 ล้านตัน  หรือร้อยละ 4.54 จากปี 2563/64 ที่มีปริมาณ 174.92 ล้านตัน โดยจีนมีสต๊อกข้าวมากที่สุด ปริมาณ 109.40 ล้านตัน รองลงมา คือ อินเดีย 23.40 ล้านตัน และไทย 4.81 ล้านตัน 

 

ในปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -20 กรกฎาคม 2564  อินเดียส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ1  ของโลก ประมาณ 10.44 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ เวียดนาม 3.52 ล้านตัน ไทย 2.61 ล้านตัน  ปากีสถาน 1.82 ล้านตัน และสหรัฐอเมริกา 1.66 ล้านตัน ตามลำดับ โดยพบว่า

 

“อินเดีย” ปริมาณการส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก เนื่องจากราคาข้าวอินเดียต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยในเดือนกรกฎาคม อินเดียเป็นผู้ชนะในการยื่นประมูลเพื่อส่งออกข้าวไปยังศรีลังกาและบังกลาเทศเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามอินเดียต้องเผชิญกับปัญหาค่าระวางที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้นของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าวในภูมิภาคเอเชียและประเทศผู้นำเข้าข้าวในแอฟริกามีสต๊อกข้าวในปริมาณมากส่งผลให้ความต้องการข้าวอินเดียจากต่างประเทศเริ่มชะลอตัว

“เวียดนาม” ปริมาณการส่งออกข้าวลดลง เนื่องจากจีนนำเข้าข้าวจากเวียดนามลดลงโดยเฉพาะ "ข้าวเหนียว" อย่างไรก็ดีในช่วงปลายเดือนกรกรฎาคม คาดว่าคำสั่งซื้อข้าวขาวเวียดนามจากมาเลเซียและฟิลิปินส์เริ่มกลับเข้ามามากขึ้น เนื่องจากราคาข้าวขาวเวียดนามปรับตัวลดลง

 

“ไทย” ปริมาณการส่งออกลดลง แม้ว่าราคาข้าวขาวของไทยจะปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี และราคาข้าวประเภทข้าวหอม (หอมะลิ และหอมปทุมธานี) ปรับตัวลงต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี ซึ่งจะทำให้มีความต้องการจากประเทศผู้นำเข้าในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกากลับเข้ามา แต่ปัญหาตู้ขนส่งสินค้าขาดแคลน และค่าระวางปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของประเทศผู้นำเข้าโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ต้องการนำเข้าในปริมาณไม่มาก เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งค่อนข้างสูง

 

“ปากีสถาน” ปริมาณการส่งออกลดลง เนื่องจากจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าหลัก มีความต้องการนำเข้าข้าวจากปากีสถานลดลง ประกอบกับประเทศผู้นำเข้าข้าวในภูมิภาคแอฟริกาหันไปนำเข้าข้าวจากประเทศคู่แข่งอย่างอินเดียมากขึ้น โดยในเดือนกรกฎาคมไม่มีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามา อีกทั้งยังมีเทศกาลวันอีด (EID) จึงทำให้การซื้อขายไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก ทั้งนี้คาดว่าสถานการณ์การส่งออกข้าวของปากีสถานจะชะลอตัวเช่นนี้ไปจนถึงเดือนกันยายน 2564

สำหรับเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า ราคาข้าวของประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ไทย อินเดีย และปากีสถาน ปรับตัวลดลบง เนื่องจากไทย ผลผลิตข้าวนาปรังเข้าสู่ตลาดรวมกับสต๊อกข้าวเดิมที่มีปริมาณมากทำให้มีสต็อกข้าวสะสมเพิ่มขึ้น ประกอบกับข้าวต้องการทั้งในและต่างประเทศลดลง “ปากีสถาน” ความต้องการจากต่างประเทสลดลง ประกอบกับผู้ประกอบการต้องการระบายข้าวออกจากสต๊อกเพื่อรองรับกับผลผลิตข้าวฤดูใหม่ที่คาดว่าจะมีปริมาณมาก และ “อินเดีย” เงินรูปีอ่อนค่า

 

อย่างไรก็ตาม สรุปก็คือ ถึงแม้ว่า "ราคาข้าวไทย" ปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับคู่แข่ง "อินเดีย" และ "เวียดนาม" แต่อินเดียยังมีข้อได้เปรียบด้านการขนส่ง โดยมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับกลุ่มประเทศผู้นำเข้าในตลาดแอฟริกา ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญของไทย จึงทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวขาวและข้าวนึ่งในภูมิภาคแอฟริกาให้อินเดีย

 

นอกจากนี้ไทยยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าระวางปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งนโยบายประเทศผู้นำเข้าข้าวขาว จึงทำให้ความสามารถการแข่งขันการส่งออกข้าวไทยลดลงการส่งออกข้าวไทยอาจไม่ถึง 6 ล้านตันตามเป้า