นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงสิงคโปร์ ในฐานะ Salesman ประเทศ ได้จัดการประชุมหารือกับสมาคมผู้นำเข้าข้าวสิงคโปร์ (Singapore General Rice Importers Association) ผ่านระบบ Video Conference โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลักดันการส่งออกข้าวไทยไปยังสิงคโปร์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ที่ราคาข้าวไทยปรับตัวลดลง ทำให้มีโอกาสในตลาดสิงคโปร์และตลาดอื่น ๆ ทั่วโลกมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นการรวบรวมข้อมูลความต้องการของประเทศผู้นำเข้าข้าวเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาสินค้าข้าวไทยให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)
ในการประชุมครั้งนี้ ทั้ง 2 ประเทศได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าว โดยฝ่ายไทยได้แจ้งสถานการณ์การผลิตข้าวของไทยในปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอยู่ที่ประมาณ 32.00-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ปัจจุบันราคาข้าวไทยปรับตัวลงมาอยู่ในระดับที่แข่งขันกับประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดียและเวียดนาม ได้มากขึ้น จึงขอให้สมาคมผู้นำเข้าข้าวสิงคโปร์นำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกสิงคโปร์นำเข้าข้าวจากไทยลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2563
ผู้แทนสมาคมผู้นำเข้าข้าวสิงคโปร์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดข้าวในสิงคโปร์ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 สิงคโปร์นำเข้าข้าวรวมลดลงเนื่องจากยังมีสต๊อกข้าวที่เหลือจากปี 2563 ที่ผู้นำเข้าได้เร่งนำเข้าข้าวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีปริมาณข้าวมากเกินความต้องการในตลาด
สำหรับสาเหตุที่สิงคโปร์นำเข้าข้าวจากไทยลดลงมาจากสาเหตุหลัก คือ ราคาข้าวไทยมีความผันผวนมากทำให้ผู้นำเข้าข้าววางแผนการตลาดค่อนข้างยาก ผู้นำเข้าข้าวบางส่วนจึงหันไปนำเข้าข้าวจากเวียดนามที่มีเสถียรภาพด้านราคาแม้ว่าคุณภาพจะด้อยกว่าข้าวไทย นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าข้าวจากอินเดียเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของแรงงานอินเดียในสิงคโปร์ที่มีมากขึ้น
อย่างไรก็ดี สมาคมผู้นำเข้าข้าวสิงคโปร์เห็นว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ความต้องการของข้าวไทยจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาข้าวไทยปรับตัวลดลงอย่างมากโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทยที่ปรับตัวลดลงในระดับที่จูงใจให้นำเข้าเพิ่มขึ้น
นอกจากปัจจัยบวกทางด้านราคาแล้ว ผู้บริโภคในสิงคโปร์ยังคงเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของข้าวไทยที่สูงกว่าข้าวจากแหล่งอื่น ประกอบกับคาดว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในช่วงเดือนกันยายนเป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้มีความต้องการข้าวไทยจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ข้าวกล้อง/ข้าวเพื่อสุขภาพของไทยได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภค และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากรัฐบาลสิงคโปร์ได้รณรงค์ให้ชาวสิงคโปร์หันมาบริโภคข้าวกล้องแทนข้าวขาวเพื่อลดอัตราผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศ โดยมีการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้นำเข้าในการประชาสัมพันธ์ข้าวดังกล่าวกับผู้บริโภค ดังนั้น หากราคาข้าวไทยมีเสถียรภาพและยังปรับตัวอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เช่นในปัจจุบัน คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีการนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
สมาคมผู้นำเข้าข้าวสิงคโปร์แสดงความขอบคุณไทยสำหรับความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอดโดยเฉพาะในฐานะผู้ส่งออกข้าวที่มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะส่งข้าวคุณภาพดีให้สิงคโปร์เสมอแม้อยู่ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา และสมาคมผู้นำเข้าข้าวสิงคโปร์ยินดีที่จะร่วมสนับสนุนข้าวไทยและช่วยส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดสิงคโปร์ต่อไป
อนึ่ง ในปี 2563 สิงคโปร์มีการนำเข้าจากไทย 127,296 ตัน มูลค่า 3,923 ล้านบาท ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้มีการนำเข้า 55,372 ตัน ลดลง 39.8% มูลค่า 1,500 ล้านบาท ลดลง 48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายกีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้กรมฯ ไม่สามารถจัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและภาคเอกชนไทยเดินทางไปเจรจาขยายตลาดข้าวและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าในต่างประเทศได้ จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการประชุมหารือผ่านระบบ Video Conference เพื่อให้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยที่ผ่านมากรมฯ ได้จัดการประชุมหารือกับสมาคมผู้นำเข้าข้าวของฮ่องกง ผู้นำเข้าข้าวฟิลิปปินส์ และหน่วยงานกำกับดูแลการนำเข้าข้าวของมาเลเซีย (BERNAS) ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ในระยะต่อไปกรมฯ มีแผนหารือกับบังกลาเทศ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย เพื่อผลักดันการส่งออกข้าวไทยและส่งเสริมให้ข้าวไทยมีส่วนแบ่งในตลาดเป้าหมายเพิ่มขึ้นต่อไป