ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายนิติปกรณ์ แสงสุวรรณ นายอำเภอดอยเต่า ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอดอยเต่า ได้มอบหมายให้นายพิชญ์พงศ์ วงษ์สุวรรณ ปลัดอำเภอประจำตำบลมืดกา และสมาชิกกองร้อยอาสารักษาดินแดนดอยเต่า ที่ 18 บูรณาการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุข อำเภอดอยเต่า ลงพื้นที่รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด-19
และรับลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ที่อาศัยอยู่ภายในหมู่บ้านดอยหลวง-บ้านดอยแก้ว และ ศศช.บ้านแม่ป๊อกบน ตำบลมืดกา อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยเน้นในกลุ่ม 608 เป็นหลัก รวมถึงกลุ่มประชาชนทั่วไป เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกหน่วยให้บริการ Mobile Unit ฉีดวัคซีนเชิงรุกในสัปดาห์หน้า
วันเดียวกันนี้ นายนิติปกรณ์ แสงสุวรรณ นายอำเภอดอยเต่า ได้เรียกประชุมคณะทำงานระดับอำเภอ เพื่อขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โครงการ “Charming Chiangmai - Doitao” (ชาร์มมิ่ง เชียงใหม่ - ดอยเต่า) และพิจารณาคัดเลือกพื้นที่นำร่องในอำเภอดอยเต่า ที่จะใช้สำหรับเป็นพื้นที่เปิดรับนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตามแผนจะกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว มีมติคัดเลือกให้ตำบลบงตัน และ ตำบลท่าเดื่อ เป็นพื้นที่นำร่องในการเข้าร่วมดำเนินโครงการ Charming Chiangmai ของอำเภอดอยเต่า
ด้านการเปิดเมืองเชียงใหม่ เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ตามโครงการ CHARMING Chiang Mai นั้น นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวย้ำว่า จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่เป็นหลัก โดยจะประเมินตามแนวโน้มของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปริมาณการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ก่อน
หากได้รับการฉีดให้ประชาชนเกินกว่า 70% จึงจะมีการพิจารณาดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือแผนสำรอง เพื่อให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวสามารถดำเนินกิจการได้
แต่หากในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ยังไม่พร้อม อาจจะมีการพิจารณาให้เปิดเฉพาะพื้นที่ที่สามารถควบคุมการเข้า-ออกได้ก่อนเท่านั้น เช่น สนามกอล์ฟ หรือพื้นที่เฉพาะอื่น ที่สามารถให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร สปา และอื่น ๆ เข้าไปให้บริการ แก่ผู้เข้าใช้บริการ
โดยผู้ที่จะเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนจนครบแล้วเท่านั้น ส่วนในพื้นที่อื่น ๆ หากได้รับการประเมินแล้วว่าปลอดภัย ก็จะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในภายหลัง
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดให้หยุดลงได้ และยังคงพบคลัสเตอร์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการนำเชื้อจากภายนอกเข้ามาระบาดในครอบครัวและที่ทำงาน ลามไปสู่ชุมชน และมีคลัสเตอร์ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังอยู่อีกถึง 18 คลัสเตอร์
คลัสเตอร์ของจังหวัดเชียงใหม่ มีสาเหตุมาจากการที่ไม่ปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งการนำเข้ามาจากต่างจังหวัดแล้วไม่กักตัว การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ งานประเพณีต่าง ๆ ฯลฯ จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนเกิดขึ้น
ซึ่งทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ โดยพยายามควบคุมสถานการณ์ไม่ให้กระทบต่อชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนมากที่สุด
จึงขอความร่วมมือให้พี่น้องประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้จำนวนยอดผู้ติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ลดลง และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้