เอกชนเร่งทำแผนรับเปิดประเทศ กกร.ถกนายกฯฟื้นศก.สัปดาห์หน้า

10 ก.ย. 2564 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2564 | 12:18 น.

หอการค้าไทยถกผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ดันแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรับเปิดประเทศ กกร.ลุ้นพบนายกฯสัปดาห์หน้า หารือแก้โควิด-ฟื้นเศรษฐกิจ ระบุพร้อมรับการบ้านนำเสนอแผนกระตุ้นรอบใหม่ ขณะส.อ.ท. ถก 45 กลุ่มอุตฯ เตรียมแผนรองรับ ยันคำเดิมรัฐเตรียมอีก 1 ล้านล้าน สตาร์ทเครื่องประเทศ

 

สถานการณ์โควิดที่ดูเหมือนจะคลี่คลายลง ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทรงตัว มีผู้หายป่วย(กลับไปรักษาตัวที่บ้าน)เพิ่มขึ้น สรุปตัวเลข ณ วันที่ 9 ก.ย. 2564 ไทยมีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1.33 ล้านคน เสียชีวิต 13,731 คน ยอดผู้รับวัคซีนสะสม ณ วันที่ 8 ก.ย.2564 มีจำนวน 38.17 ล้านโดส ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีย้ำยังคงเป้าหมายเปิดประเทศใน 120 วัน หรือในเดือน ต.ค.นี้ ส่งสัญญาณให้ทุกจังหวัดเร่งเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่กันอย่างคึกคัก

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในวันที่ 10 ก.ย. จะประชุมผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับประธานผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young Entrepreneur Chamber of Commerce : YEC) ของหอการค้าไทยทั่วประเทศ (YEC ทั่วประเทศมี 4,546 คน) โดยส่วนหนึ่งของประเด็นการหารือคือรุ่นใหม่มีแนวคิด หรือมีความต้องการอย่างไรในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัด และของประเทศในภาพรวม

 

ขณะเดียวกันจากที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ได้ทำหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจตั้งแต่กลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับนัดหมายให้พบ เนื่องจากนายกฯยังติดหลายภารกิจ ซึ่งภาคเอกชนคาดหวังจะได้เข้าพบและหารือกับนายกฯในสัปดาห์หน้า

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

 “ประเด็นที่เตรียมนำเสนอท่านนายกรัฐมนตรีคงมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดบ้าง เนื่องจากสถานการและเวลาเปลี่ยนแปลงไป หลายมาตรการที่เอกชนเตรียมนำเสนอ รัฐบาลก็ดำเนินการให้แล้ว เช่น การเร่งจัดหา และเร่งฉีดวัคซีน ในส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับกับการเปิดประเทศในความเห็นของภาคเอกชน หากท่านนายกฯมีบัญชาลงมาในการเข้าพบของกกร.ในครั้งนี้ เราก็จะรับการบ้านจากท่านมาดำเนินการต่อไป”

 

 

สุพันธุ์  มงคลสุธี

 

สภาอุตฯถก 45 กลุ่มเตรียมแผน

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในส่วนของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำเสนอนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลนั้น ขณะนี้ทาง ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการเตรียมแผน ซึ่งในเบื้องต้นจะมีการหารือกับ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกของ ส.อ.ท.ในการประชุมประจำเดือนก.ย. มีหลายเรื่องที่จะหารือกัน เช่น ปัญหา-อุปสรรคในการทำธุรกิจ รวมถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะได้รวบรวมความคิดเห็นและอาจนำเสนอในเวทีการประชุม กกร.ต่อไป ทั้งนี้ทาง กกร.เคยนำเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อรัฐบาลไปหลายมาตรการแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง (กราฟิกประกอบ)

 

เอกชนเร่งทำแผนรับเปิดประเทศ กกร.ถกนายกฯฟื้นศก.สัปดาห์หน้า

 

 

ย้ำรัฐต้องเตรียมอีก1 ล้านล้าน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เวลานี้มีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ในนาม กรอ.จังหวัด หรือ กรอ.ภาคได้เริ่มมีการหารือ และมีการเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจกันในหลายพื้นที่ เพื่อรับกับสถานการณ์โควิดที่มีแนวโน้มคลี่คลาย และเพื่อรองรับกับการเปิดประเทศ อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังไม่มีการประชุม กรอ.ใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากทุกคนเพิ่งได้รับโจทย์ หรือการบ้านจากรัฐบาล แต่ละจังหวัด แต่ละภาคอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ยังไม่มีรายงานเข้ามายังส่วนกลาง

 

 สำหรับเป้าหมายการเปิดประเทศใน 120 วันหรือในเดือนตุลาคมนี้ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศ จะสามารถเปิดได้จริงหรือไม่ คงต้องดูและประเมินสัปดาห์ต่อสัปดาห์ยังตอบยากในเวลานี้ อย่างไรก็ดีหากการ์ดตกมีผู้ติดเชื้อระดับ 3 หมื่นคนต่อวันในเดือน ต.ค.ตามที่นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธินโฆษก ศบค.ได้ออกมาเตือน ก็อาจจะเปิดประเทศไม่ได้ คงต้องขยับออกไปอีก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่หากตัวเลขดีขึ้น การติดเชื้อและเสียชีวิตต่อวันลดลงอย่างเห็นได้ชัดก็น่าจะเปิดประเทศได้ ทั้งนี้ภาคเอกชนส่วนใหญ่มีความเห็นไม่อยากให้มีการล็อกดาวน์อีก และลุ้นให้เปิดประเทศได้ เพื่อให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ทำให้มีรายได้เพิ่ม เศรษฐกิจหมุนเวียน และช่วยเพิ่มการจ้างงาน

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

“คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจออกมาพูดล่าสุดว่า ได้เตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่าง ๆ ในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งทั้งคุณสุพัฒนพงษ์ และคุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกมาพูดในแนวเดียวกันว่า ตัวเลขเงินไม่ต้องกู้เพิ่ม ที่มีอยู่เพียงพอแล้ว ตอนนี้ยังเหลืออยู่ 4 แสนล้าน (จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน) แต่ภาคเอกชนและทางธนาคารแห่งประเทศไทยมองต่างว่า รัฐควรเตรียมเม็ดเงินอีก 1 ล้านล้านบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ”

 

ทั้งนี้ใช้หลักคิดคือ การชดเชยรายได้ภาคครัวเรือนที่ขาดหายไปจากผลกระทบโควิดในช่วง 3 ปี (2563-2565)กว่า 2.6 ล้านล้านบาท รัฐบาลกู้ไปแล้ว 1.5 ล้านล้านบาทก็ต้องเตรียมไว้อีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นหรือกระตุกเศรษฐกิจอีกอย่างน้อย 2-3 ครั้ง เพื่อให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจสตาร์ตติดและกลับมาทำงานได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว หากไม่เร่งกระตุ้นและปล่อยให้ลากยาวไปถึงปลายปี 2565 จะไม่ทันการณ์ เอสเอ็มอีที่ไปไม่ไหวจะล้มหายตายจากไปอีกจำนวนมาก

 

แสนสิริเชื่อสิ้นปีเปิดประเทศได้

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในแง่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น จำเป็นต้องอาศัยการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นส่วนกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ปัจจุบัน กลับมีข้อจำกัด อีกทั้งคาดการณ์แนวโน้มจีดีพีไทยเริ่มเข้าสู่ฐานตัวเลขติดลบซ้ำจากปีที่ผ่านมา สะท้อนภาพผลกระทบและการถดถอยของกำลังซื้ออย่างชัดเจน

 

แต่ทั้งนี้ ยังมีหวังต่อแผนการเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรี ตามเป้าหมายก่อนสิ้นปี 2564 เนื่องจาก เห็นสัญญาณการฉีดวัคซีนโควิดเข้าใกล้เป้าหมาย สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ประชากร 50 -70% คล้ายกับประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาที่สามารถเปิดประเทศได้ และถึงแม้ยังเปิดประเทศไม่ได้ แต่สัดส่วนการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น จะทำให้มาตรการเข้มต่าง ๆ ทางสังคมและเศรษฐกิจผ่อนคลายลงได้

 

“เมื่อประเมินไทม์ไลน์การนำเข้าวัคซีน ที่จะมีรองรับตั้งแต่ ก.ย. ไปจนสิ้นปี เป้าหมาย 120 ล้านโดสนั้น เชื่อว่าแม้สิ้นปีนี้เปิดประเทศไม่ทัน แต่ต้นปี 2565 มีโอกาส ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการ เริ่มวางแผนรอเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวแล้ว”

 

ก่อนหน้า แสนสิริ เคยเสนอให้รัฐบาล เร่งแผนลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นการจัดซื้อจัดจ้าง และจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงแนะให้รัฐพิจารณา การกู้เงินเพิ่ม เพื่อใช้ในการลงทุน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องกังวลหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เช่นโมเดลในหลายประเทศ

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3713 วันที่ 12-15 ก.ย. 2564