พาณิชย์อัพเดตเจรจา 3 FTAใหญ่ ไทย-อียูคืบไทย-อังกฤษเริ่มต้นนับ1

13 ก.ย. 2564 | 04:30 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2564 | 11:38 น.

 “พาณิชย์” เร่งแผนเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู หลัง 2 ฝ่ายเห็นพ้องควรเร่งเจรจา คาดเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบได้ในปีนี้ ส่วน FTA ไทย-อังกฤษ จัดตั้ง JETCO เปิดเวทีหารือสองฝ่ายแล้ว กำหนดจัดประชุมครั้งแรก Q4 ปีนี้ ขณะ CPTPP กนศ.อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ยังไม่มีผลสรุป 

การเจรจาเพื่อจัดทำความตกการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการของไทยถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ปัจจุบันไทยมี FTA 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ ซึ่งย่ำอยู่กับที่มาหลายปีแล้ว จำเป็นต้องเปิดเจรจาเพื่อจัดทำ FTA ใหม่ ๆ ให้มากขึ้น

 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้า FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ว่า หลังจากที่นายปีร์กะ ตาปิโอละ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้เข้าพบนายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในประเทศ

พาณิชย์อัพเดตเจรจา 3 FTAใหญ่  ไทย-อียูคืบไทย-อังกฤษเริ่มต้นนับ1

เพื่อเตรียมเสนอรัฐบาลเพื่อให้ความเห็นชอบให้ฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู โดยตั้งเป้าที่จะหาข้อสรุปให้ได้ภายในปีนี้ หลังจากนั้น กรมฯ จะเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ไทยสามารถเริ่มการเจรจารอบแรกได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในช่วงกลางปี 2564

ทั้งนี้อียู เป็นนักลงทุนอันดับ 3 ของไทย รองจากญี่ปุ่น และจีน   ซึ่งการทำ FTA กับอียู จะช่วยสร้างโอกาสทางการค้า โดยเฉพาะการแข่ง ขันกับสินค้าจากเวียดนาม และสิงคโปร์ เนื่องจาก 2 ประเทศนี้มี FTA กับอียูแล้ว ขณะที่อินโดนีเซีย อยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับอียู นอกจากนี้ การจัดทำ FTA กับอียู จะช่วยดึงดูดการลงทุนทั้งจากอียู และประเทศอื่น ๆ มาไทยมากขึ้น เพราะสามารถใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าไปอียู

พาณิชย์อัพเดตเจรจา 3 FTAใหญ่  ไทย-อียูคืบไทย-อังกฤษเริ่มต้นนับ1

“โอกาสดังกล่าวจะมาพร้อมกับความท้าทาย เช่นกันจากการศึกษา FTA ของอียูที่ผ่านมา เป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมประเด็นดั้งเดิม (traditional issues) ที่มีใน FTA ที่ผ่านมาของไทย เช่น การเปิดตลาดสินค้าและบริการ การอำนวยความสะดวกทางการค้า และมาตรฐานสินค้า และประเด็นการค้าใหม่ ๆ เช่น การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและแรงงาน  ตลอดจนข้อกำหนดด้านกฎระเบียบที่เข้มข้นกว่า FTA ที่ผ่านมาของไทย ซึ่งภาคเอกชนอาจจะต้องเตรียมความพร้อมในการปรับตัว ทั้งนี้การเจรจา FTA จะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์ และผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรมฯได้เสนอเรื่องการขอจัดตั้งกองทุน FTA เพื่อเป็นกลไกช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว และกระทรวงการคลังได้ดำเนินการต่อไปแล้ว”

สำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสขยายตัวจากการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้หากสรุปผลการเจรจาได้แล้ว คาดว่า คณะมนตรียุโรป (ประเทศสมาชิก) และรัฐสภายุโรป พิจารณาให้ความเห็นชอบ FTA ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี

 ส่วนความคืบหน้า FTA ไทย-สหราชอาณาจักร (UK /อังกฤษ) นั้นได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า ( JETCO) เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่ง JETCO จะเป็นเวทีหารือระหว่างรัฐมนตรีการค้าของทั้งสองฝ่าย โดยความร่วมมือนี้สามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องรอการมี FTA ระหว่างกัน  ซึ่ง JETCO กำหนดจัดประชุมครั้งที่ 1 ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

 ขณะที่ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการเข้าร่วมความตกลงของ กนศ. ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นประธานยังไม่ได้ข้อสรุป

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,713 วันที่ 12 - 15 กันยายน พ.ศ. 2564