กลุ่มอาหารวอนยุติเอดีเหล็กแผ่นทำกระป๋อง ผวาทุบส่งออก 1 ล้านล้าน

18 ก.ย. 2564 | 01:16 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2564 | 12:13 น.

6 สมาคมอาหาร-บรรจุภัณฑ์ วอนยุติเอดีเหล็กแผ่นทำกระป๋อง ระบุจะส่งผลกระทบทำต้นพุ่งไม่หยุด ล่าสุดขยับพรวดเป็น 50% ของต้นทุนแล้ว กลุ่มอาหารชี้พ่วงกับอีก 3 ปัจจัยเสี่ยง ค่าระวางเรือโหด โควิดระบาด บาทแข็งค่า ทำขีดแข่งขันวูบหนัก เป้าส่งออก 1 ล้านล้านต้องลุ้น

 

 จากที่ 6 สมาคมการค้า ประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย สมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สเปรย์ไทย และสมาคมบรรจุภัณฑ์โลหะไทยได้เรียกร้องไปยังกระทรวงพาณิชย์ผ่านสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานให้ยกเลิกการไต่สวนคำร้องมาตรการการทุ่มตลาดเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก (Tin Plate) และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม (Tin Free Steel) เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแผ่นเหล็กในประเทศ (ที่มีผู้ผลิตเพียง 2 ราย) อาจนำมาซึ่งการปรับราคาสูงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม และส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่จะปรับสูงขึ้นอีกมาก

 

 แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทตอ.ได้เปิดไต่สวนการทุ่มตลาด (AD) สินค้าเหล็กแผ่นเคลือบทั้ง 2 ชนิดซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระป๋องและฝาบรรจุสินค้า มาเป็นระยะเวลา กว่า 1 ปีแล้ว โดยได้พิจารณาข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย (ผู้ผลิตและผู้ใช้) ล่าสุดในปลายเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคมนี้ ทาง ทตอ.จะกำหนดวันประชุมเพื่อพิจารณาและจะมีมติว่า จะมีการชะลอการกำหนดภาษีเอดีเหล็กแผ่นทั้ง 2 ชนิดที่นำเข้าจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น หรือไม่ หรือจะยุติการไต่สวนไม่ใช้มาตรการหรือไม่ ซึ่งยังต้องลุ้นว่าที่ประชุมจะมีมติออกมาเช่นไร

 

กลุ่มอาหารวอนยุติเอดีเหล็กแผ่นทำกระป๋อง ผวาทุบส่งออก 1 ล้านล้าน

 

ขณะที่แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ปัจจุบันราคาเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม วัตถุดิบสำคัญในการผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋อง ราคาปรับตัวสูงขึ้นมากตามราคาตลาดโลก โดยราคาปรับขึ้นมาเมื่อเทียบกับปีที่แล้วกว่า 80% ทั้งนี้บรรจุภัณฑ์กระป๋องก่อนขึ้นราคาแผ่นเหล็กคิดเป็นต้นทุนการผลิตสินค้า 20-40% (แล้วแต่ชนิดอาหาร) แต่หลังจากแผ่นเหล็กขึ้นราคา ณ ปัจจุบันคิดเป็นต้นทุน 35-50% หากมีมาตรการเอดีคาดต้นทุนบรรจุภัณฑ์กระป๋องจะเพิ่มขึ้นเป็น 45-60%

 

 “ปัจจุบันเหล็กทั้ง 2 ชนิดข้างต้น นำเข้ามาโดยบริษัทผู้ผลิตในประเทศ (มี 2 รายคือ บริษัทสยามแผ่นเหล็กวิลาส และบริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย) คิดเป็นสัดส่วน 50% ซึ่งจะนำเข้าแผ่นเหล็กแล้วมาเคลือบและขายให้บริษัทผู้ผลิตกระป๋อง ที่จะนำเหล็กไปม้วนเป็นกระป๋องต่อ แล้วขายให้โรงงานผู้ผลิตอาหาร และอีก 50% นำเข้าแผ่นเหล็กโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิตกระป๋อง เนื่องจาก 2 บริษัทข้างต้นผลิตป้อนได้ไม่เพียงพอ แล้วนำมาม้วนเป็นกระป๋องขายให้กับโรงงานผู้ผลิตอาหาร ซึ่งบางช่วงราคาแผ่นเหล็กนำเข้าถูกมาก จึงนำมาซึ่งการฟ้องร้องให้เปิดการไต่สวนการทุ่มตลาดดังกล่าว”

 

 ทั้งนี้ในความเห็นของ 6 สมาคมที่มีสมาชิกกว่า 324 โรงงานอยากให้ยุติการไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเอดี และอยากให้ผู้ผลิตเหล็กทั้ง 2 รายหันหน้ามาคุยกัน โดยอาจเพิ่มการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบ ซึ่งโรงงานที่เกี่ยวเนื่องยินดีซื้ออยู่แล้ว แต่ไม่ควรปิดกั้นการนำเข้า เพราะหากมีการประกาศอัตราภาษีเอดี จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่จะปรับขึ้นสูงมาก จะกระทบกับราคาสินค้าส่งออก รวมถึงกระทบกับผู้บริโภคในประเทศ จากราคาสินค้าที่จะสูงขึ้น

 

กลุ่มอาหารวอนยุติเอดีเหล็กแผ่นทำกระป๋อง ผวาทุบส่งออก 1 ล้านล้าน

 

 ด้านนายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันนอกจากบรรจุภัณฑ์กระป๋องที่เป็นต้นทุนสำคัญของโรงงานผลิตอาหารจะมีต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีอีก 3 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ 1.ค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก เช่น เส้นทางไปอเมริกาเฉลี่ยมากกว่า 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 6.4 แสนบาท คำนวณที่ 32 บาทต่อดอลลาร์) ต่อตู้ขนาด 20ฟุต ซึ่งในส่วนสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยังพอจ่ายได้เพื่อส่งมอบสินค้าได้ตรงเวลา แต่ในส่วนของสินค้าเกษตรและอาหารซึ่งมีราคาไม่สูง ขณะนี้ถือว่าค่าระวางเรือได้แซงค่าสินค้าไปแล้ว ทำให้คู่ค้าหลายรายชะลออเดอร์ หรือสั่งซื้อเท่าที่จำเป็น ส่วนหนึ่งขอชะลอการส่งมอบ เพราะสินค้าแพงขึ้น 2 เท่าทำให้ขายยาก

 

 2.การติดเชื้อโควิดของแรงงานในโรงงาน ต้องมีมาตรการ Bubble & Seal ค่าตรวจ ATK และอื่นๆ ที่ต้องแบกภาระเอง และไม่รู้จะไปจบที่ตรงไหน และ 3.เงินบาทที่ยังผันผวนในทิศทางที่เริ่มแข็งค่าขึ้นกระทบความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ยังต้องลุ้นเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารปี 2564 ที่ตั้งไว้มูลค่า 1.05 ล้านล้านบาทจะทำได้หรือไม่ (จากปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าอาหาร 9.80 แสนล้านบาท) ส่วนมองว่าจะทำได้แบบเฉียดฉิว มีปัจจัยหนุนจากการส่งออกสินค้าผักและผลไม้ที่ยังขยายตัวได้ดีมาก เฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปยังตลาดจีนทางรถยนต์

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3715 วันที่ 19-22 ก.ย. 2564