นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยเดินมาถูกทางแล้ว เพราะที่ผ่านมาไทยไม่ได้พึ่งพาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวในการนำรายได้เข้าประเทศ แต่อย่างน้อยที่สุดมี 2 ขาคือการท่องเที่ยวและการส่งออกซึ่งก่อนโควิดท่องเที่ยวทำรายได้เข้าประเทศ 11.33% ของจีดีพี และการส่งออกประมาณ 45% รวมเป็น 66%
โดยดูจากตัวเลขการส่งออก มีอัตราการเจริญเติบโตที่ชัดเจนในช่วงต้นปีจะเห็นว่าตั้งแต่กรกฎาลงไปการส่งออกไทยขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม +7% เมษายน +11% พฤษภาคม +41%และมิถุนายน +43% เป็นนิวไฮใหม่ของอัตราการเติบโตของการส่งออกในเดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคม +20% แต่คาดว่าเดือนต่อไปจะบวกน้อยกว่านี้เพราะพิษจากการล็อกดาวน์เริ่มปรากฏกระทบภาคการผลิต โรงงานบางแห่งปิดตัวหรือปิดการผลิตบางส่วน โลจิสติกส์ข้ามจังหวัดข้ามประเทศเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น แต่เชื่อว่ายังเป็นบวกอยู่และปลายปียังคงเป็นบวก ดังนั้นภาพรวม 7 เดือนแรกตั้งแต่มกราคมถึงกรกฎาคม โต 4 เท่าของเป้าที่กำหนดไว้ที่ 4% ตั้งแต่มกราคมถึงกรกฎาคม +16.2% แล้ว และยอดการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เกินกว่าเดือนละ 700,000 ล้านบาท
นอกจากนี้นโยบายของรัฐบาลและนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่เข้าไปรับผิดชอบดูแลสนับสนุนการส่งออกชัดเจนเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยต้องใช้ยุทธศาสตร์รัฐหนุนเอกชนนำเอกชนต้องเป็นพระเอก รัฐบาลเป็นกองหลังคอยสนับสนุนส่งเสริม หลักที่ถูกต้อง รัฐอย่าทำตัวเป็นพระเอกเพราะไม่เก่งเท่าเอกชน เค้ารู้เชิงลึกและเป็นนักรบตัวจริง อย่าไปสร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค ซึ่งอุปสรรคอยู่ตรงไหนรัฐต้องเร่งแก้ เพื่อให้เขาเป็นพระเอกยิงประตูนำเงินเข้าประเทศให้มากที่สุด
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังมีการตั้งทีมเซลล์แมนจังหวัดเอาพาณิชย์จังหวัดมาเป็นตัวกลางเอกชนในจังหวัดมาร่วมมือกันแก้ปัญหาการตลาดในจังหวัด จับมือกัน และมีทีมเซลล์แมนประเทศ ทูตพาณิชย์เป็นแกนกลาง เอกชนจับมือกันเป็นทีมเซลล์แมนประเทศช่วยกันขายของกำหนดยุทธศาสตร์ เป็นนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่มีส่วนช่วยสำคัญในการทำให้การส่งออกตัวเลขค่อยๆดีขึ้น ทางด้านแผนการส่งออกของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 200 กว่ากิจกรรมและครึ่งปีหลังอีกอย่างน้อย 130 กิจกรรม การส่งออกยังเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป และค่าเงินบาทอ่อนลงในช่วงนี้มีส่วนช่วยทำให้แข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลกขณะเดียวกันเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว ช่วยขับเคลื่อนการส่งออกให้เป็นความหวังได้ยิ่งขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวทุกประเทศได้ประโยชน์ แต่ภาวะการแข่งขันยังเหลืออยู่และอาจจะต้องทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องติดตาม คือ การกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษีจะทวีความรุนแรงเข้มข้นและมีรายการเพิ่มขึ้น มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีทั้งหมดนี้สร้างขึ้นมาจากประเทศพัฒนาแล้วเกือบทั้งสิ้น การที่สหรัฐกับอังกฤษอีและออสเตรเลียจับมือกันตั้งไตรภาคีเพื่อความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก มีนัยยะสำคัญคือสหรัฐฯจะเข้าไปช่วยออสเตรเลียผลิตเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งออสเตรเลียสั่งซื้อจากฝรั่งเศสหลายหมื่นล้านดอลลาร์ กระทบฝรั่งเศส แต่ทันทีที่ประกาศไตรภาคีเรื่องนี้จีนประกาศจะเข้าร่วม CPTPP ซึ่งต้องติดตามโลกไม่ได้แบ่งค่ายเฉพาะทางการเมืองแล้วแต่ยังเอาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศมามัดติดกับการเมืองและแบ่งค่ายกัน เป็นประเด็นใหญ่ที่ประเทศไทยและภาคเอกชนต้องจับมือการติดตามวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด
เพื่อกำหนดทิศทางและท่าทีของไทขว่าจะเดินไปอย่างไร ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอครม.ว่าอย่างน้อยที่สุดไทยต้องจับมือกับอาเซียนให้ใกล้ชิดเพราะลำพังไทยตัวเล็กเกินไป อำนาจต่อรองก็จะเพิ่มขึ้น แต่อาเซียนด้วยกันก็ต้องแข่งกัน ฉะนั้นเราจะสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยอย่างไรคือการบ้านข้อใหญ่ในภาวะการเมืองมัดติดกับเศรษฐกิจการค้าโลก นอกจกนี้เอกชนกับรัฐบาลต้องศึกษาข้อตกลงกติกาการค้าโลกที่มีให้ใกล้ชิดลงลึก FTA Mini-FTA RCEP อาเซียนพลัสรวมถึงอื่นๆ เพื่อเตรียมการในการปรับตัวและแสวงหาแต้มต่อทางการค้า
“ส่วนเรื่องที่จีนสนใจจะเข้าร่วม CPTPP เชื่อว่าจะกระทบไทย เพราะถ้าจีนเป็นสมาชิก CPTPP ต้องปรับมาตรฐานทางด้านการผลิตการส่งออกหลายรายการเพื่อให้สอดคล้องกับกติกา จะกระทบไทยเพราะจีนเป็นตลาดอันดับหนึ่งของไทย แต่เมื่อจีนปรับมาตรฐานการส่งออก สินค้าไปจีนต้องภายใต้มาตรฐานใหม่ เป็นสิ่งที่ กรอ.พาณิชย์ทั้งกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนต้องติดตาม เพราะการส่งออกจึงยังเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป"