นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) รวมถึงการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของซีกโลกตะวันตก รวมทั้งยังมีผลกระทบต่อเนื่องจากพายุในสหรัฐอเมริกา ทำให้การผลิตน้ำมันต้องหยุดชะงัก นอกจากนั้น กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (กลุ่ม OPEC) ได้มีการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบ ส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมมาตรการรับมือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและไม่ให้กระทบกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศ โดยเตรียมใช้มาตรการช่วยเหลือจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศไม่ให้มีความผันผวนมากจนเกินไป ซึ่งหากเกิดกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลพื้นฐาน (B10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 30 บาท/ลิตร ก็จะเข้าไปดูแลราคา ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซล (B10) อยู่ที่ 28.29 บาท/ลิตร
“กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์ของราคาน้ำมันและราคาแอลพีจีในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด และขอยืนยันว่า กระทรวงพลังงานเตรียมพร้อมใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าอุดหนุนทันที หากราคาน้ำมันดีเซล (B10) มีราคาสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร ซึ่งในช่วงนี้ กระทรวงพลังงาน ขอรณรงค์ให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซล หันมาเติมน้ำมันดีเซล ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลบี7 ถึง 3 บาทต่อลิตร รวมถึงที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ได้ให้การช่วยเหลือราคา LPG โดยตรึงราคาขายปลีกสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา"
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ให้คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มข้างต้นออกไปอีก 3 เดือน คือ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ซึ่งขอยืนยันว่ากระทรวงพลังงานไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมที่จะใช้กลไกที่มีอยู่เข้าไปช่วยบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน