นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา บีทีเอส กรุ๊ปฯ ได้ขยายขอบเขตธุรกิจ MOVE นอกเหนือจากระบบขนส่งทางราง ด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรจัดตั้ง “กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR” โดย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ถือหุ้น 40%), บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ถือหุ้น 40%), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STECON) (ถือหุ้น10%), และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ถือหุ้น10%) ลงนามร่วมกับกรมทางหลวง ภายใต้ “สัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) หรือมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) หรือมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี
ขณะเดียวกันการลงนามสัญญาในครั้งนี้ ถือเป็นโครงการความร่วมมือภาครัฐ และภาคเอกชน (PPP) แรกของประเทศไทย ในโครงการพัฒนามอเตอร์เวย์ และจะดำเนินการเข้าพื้นที่เพื่อก่อสร้างงานระบบภายในปีนี้ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะได้รายได้จากค่าจ้างดำเนินงาน และค่าลงทุนก่อสร้างโครงการวงเงินรวมประมาณ 39 พันล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน - นครราชสีมา วงเงิน 21.3 พันล้านบาท และรายได้จากมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี วงเงิน 17.8 พันล้านบาท ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี”โดยทั้งสองเส้นทางจะเปิดให้ประชาชนทดลองวิ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2566 และจะเปิดให้บริการเป็นทางการแบบเก็บค่าผ่านทางในช่วงต้นปี 2567 ส่วนรายละเอียดของสัญญาจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดย ระยะที่ 1 ช่วงไม่เกิน 3 ปี กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างติดตั้งงานระบบ และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ทั้งการก่อสร้างด่าน และติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น หรือ Free Flow ระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ ระบบโครงข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสง และระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนสายทาง อาคารศูนย์ควบคุม และอาคารสำนักงานต่างๆ ระยะที่ 2 เมื่อเส้นทางเปิดให้บริการ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะทำหน้าที่ซ่อมบำรุงรักษาถนน และดูแลงานระบบทั้งหมดของโครงการ ซึ่งรวมถึงงานกู้ภัย และช่วยเหลือผู้ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 30 ปีหลังเปิดให้บริการ
“การลงนามในสัญญาครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของบีทีเอส กรุ๊ปฯ ที่ได้ขยายขอบเขตธุรกิจ นอกเหนือจากระบบขนส่งทางราง ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ MOVE เกิดการเดินทางแบบไร้รอยต่อ สอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนในยุคดิจิทัล ช่วยลดการสัมผัสระหว่างบุคคลตามแนวทางการปฏิบัติของยุค New Normal ผ่านการจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น และทั้ง 2 เส้นทางยังเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคม ฐานการผลิตและส่งออกพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่โซนภาคตะวันตก และภาคใต้ รองรับแผนเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐบาล”
ทั้งนี้เครือข่ายธุรกิจ MOVE ของบีทีเอส กรุ๊ปฯ ให้ความสำคัญต่อการคมนาคมขนส่งผู้โดยสาร ทั้งทางราง ทางถนน และทางน้ำ ซึ่งมีทั้งรถไฟฟ้า, เรือด่วนเจ้าพระยา, รถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) โดยธุรกิจเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดด้วยการหาพันธมิตรใหม่ ผ่านกลยุทธ์ MATCH ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของบีทีเอส กรุ๊ปฯ และสร้างโอกาสการเจริญเติบโตได้ในอนาคต