“พายุ” 6 ลูก เกษตรน้ำท่วม กว่า 5.37 ล้านไร่ เสียหายกว่า 8 พันล้านบาท

20 ต.ค. 2564 | 05:22 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2564 | 11:16 น.

เกษตรฯ แถลง “พายุ 6 ลูก กระทบพื้นที่เกษตร 5.37 ล้านไร่ เสียหายกว่า 8,000 ล้านบาท ทุบจีดีพีเกษตรลดลงประมาณ 4,190 – 5,730 ล้านบาท หรือ 0.2 - 0.5% สศก. ระบุเกษตรกร 2 เด้ง "เยียวยาเกษตรกร" อัตราใหม่ เพิ่มขึ้นกว่าเดิม – "ประกันภัย" หวังบรรเทาความเดือดร้อน

 

ฉันทานนท์ วรรณเขจร

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลกระทบของภาคเกษตรจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2564 ว่า สถานการณ์ ณ เวลานี้ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากอิทธิพลร่องมรสุมและพายุต่าง ๆ ประมาณ 6 ลูก

 

1.พายุไซโคลน “ยาอาส” (25 - 29 พ.ค.64)

 

2. พายุ 'โคะงุมะ'   (12 - 13 มิ.ย.64) 3)

 

3. พายุโซนร้อน "โกนเซิน" (9-10 ก.ย. 64)

 

4. "พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” (23 - 30 ก.ย. 64) 

 

5. พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” (10 - 12 ต.ค. 64) 

 

6. พายุโซนร้อน “คมปาซุ” (13 - 15 ต.ค.64)

 

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตร ร่องมรสุมกำลังแรงดังกล่าว มีสาเหตุจากปรากฏการณ์ลานิญา ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีปริมาณน้ำเกินกว่าระดับกักเก็บ

 

โดยเฉพาะเขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จนต้องเร่งระบายน้ำออกสู่พื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งทำให้หลายพื้นที่เกิดอุทกภัยอย่างหนัก ซึ่งการที่ฝนตกชุกยาวนานนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ก่อให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ 48 จังหวัดในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อประชากรร้อยละ 5 ของประเทศ (จากประมาณ 69.8 ล้านคน) และพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบร้อยละ 6.5 ของพื้นที่การเกษตรในประเทศ

 

ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประเมินความเป็นไปได้ที่ปริมาณผลผลิตจะเสียหายตามพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณาระดับความอ่อนไหวของพืชนั้น ๆ ต่อภาวะน้ำท่วม เช่น ผลผลิตข้าว ประเมินว่ามีโอกาสเสียหายประมาณร้อยละ 30 ของข้าวทั้งหมดที่ปลูกในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม เนื่องจากนาข้าวส่วนใหญ่อยู่ในที่ลุ่ม ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมขัง

พื้นที่เกษตรเสียหาย 5.37 ล้านไร่

 

ขณะที่พืชไร่ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง มักปลูกในที่ดอน จึงไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังเหมือนข้าว   อย่างไรก็ตาม บางส่วนได้รับความเสียหายจากน้ำไหลหลาก คาดว่าโอกาสเสียหายจะอยู่เพียงร้อยละ 5 ของพืชไร่ในพื้นที่น้ำท่วมเท่านั้น ส่วนพืชผักมีโอกาสเสียหายประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ปลูกที่โดนน้ำท่วม โดยภาพรวมมีพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบประมาณ 5.37 ล้านไร่ โดยประเมินสถานการณ์ เป็น 2 กรณี (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2564)

 

1. กรณี "น้ำท่วม" เดือนกันยายน - กลางตุลาคม 2564  สำหรับข้าวนาปี คาดว่ามีพื้นที่เสียหาย 3.5 ล้านไร่ มีมูลค่าความเสียหาย 4,685 ล้านบาท และพืชผัก คาดว่ามีพื้นที่เสียหาย 0.18 ล้านไร่ มีมูลค่าความเสียหาย 1,069 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 6,250 ล้านบาท

 

2. กรณี "น้ำท่วมขัง" เดือนกันยายน - ตุลาคม 2564 สำหรับข้าวนาปี คาดว่ามีพื้นที่เสียหาย 5 ล้านไร่ มีมูลค่าความเสียหาย 6,692 ล้านบาท และพืชผัก คาดว่ามีพื้นที่เสียหาย 0.23 ล้านไร่ มีมูลค่าความเสียหาย 1,366 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 8,058 ล้านบาท

 

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ GDP ภาคเกษตรปี 2564 ลดลงประมาณ 4,190 – 5,730 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.2 - 0.5 ซึ่งเป็นการประเมินในเบื้องต้นที่ไม่ได้รวมความเสียหายด้านทรัพย์สิน ทั้งนี้ จึงต้องมีการติดตามผลกระทบอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป