21 ตุลาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เด็กชายอายุ 12 – 16 ปีสามารถฉีดวัคซีน ไฟเซอร์ + ไฟเซอร์ได้ หลังคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีมติให้สามารถฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 ในเด็กชายอายุ 12 – 16 ปีโดยเป็นไปตามความสมัครใจและความประสงค์ของผู้ปกครองและเด็กนักเรียนทั่วโลกมีการฉีดให้เด็กแล้วกว่า 100 ล้านโดส
ส่วนข้อกังวลเรื่องอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น ทางคณะอนุกรรมการฯ ชี้แจงว่า เกิดขึ้นได้น้อยมาก และรักษาหายได้เร็ว โดยมีข้อสรุป 3R ได้แก่
1.Real กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดขึ้นจริง ส่วนมากเกิดในเข็มที่ 2 ในเด็กผู้ชายอายุ 12 - 16 ปี
2.Rare เกิดขึ้นได้น้อยมาก ในระดับไม่กี่รายต่อล้านคน พบมากสุดประมาณ 6 ในแสนคน ซึ่งน้อยกว่าโรคโควิด-19 ในเด็กที่ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย (MIS-C) รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
3.Recovery ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง มีจำนวนน้อยรายที่อาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล และทั่วโลกรายงานพบผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวกับวัคซีน 1 ราย ขณะที่มีการฟื้นตัวรวดเร็วมากถึง 90%
ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข จะติดตามอาการหลังฉีดอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจะมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อสร้างความเข้าใจแก่เด็กและผู้ปกครองอีกด้วย โดยปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่เข็มที่ 1 ให้กับเด็กนักเรียนอายุ 12 – 18 ปี แล้ว จำนวน 1,325,527 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2564) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ในรูปแบบ On-Site
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเร่งเดินหน้าระดมฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ในสถานพยาบาลของรัฐในพื้นที่ต่าง ๆ หรือคลินิกฝากครรภ์เพื่ออำนวยความสะดวก ปัจจุบันมีหญิงตั้งครรภ์เข้ารับการฉีดวัคซีนเพียง 75,000 ราย จากเป้าหมาย 300,000 ราย
ตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 95% ไม่ได้รับวัคซีน เป็นสาเหตุทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต
ขณะที่ทั่วโลกมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิดมีสัดส่วนการเสียชีวิตที่สูงขึ้นกว่าภาวะปกติถึง 50-60% และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในหลายประเทศ จึงขอเชิญชวนให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ
ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนทุกชนิดมีความปลอดภัยแก่แม่และเด็กในครรภ์ รวมทั้งสามารถส่งต่อภูมิคุ้มกันให้กับทารกในครรภ์ และการให้นมบุตรอีกด้วย นางสาวรัชดา ระบุทิ้งท้าย