ผู้สื่อข่าวรายงาน (26 ต.ค.64) นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามผลการปฏิบัติการฝนหลวงและการเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ โดยช่วงเช้าได้เดินทางไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด เชียงใหม่ โดยมีนายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจ.เชียงใหม่ และนายอัธยา อรรณพเพ็ชร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันแม้ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือจะมีฝนตกอย่างหนักผนวกกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ได้ออกปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณเพียงพอต่อการช่วยเหลือพื้นที่ภาคเกษตร แต่กรมฝนหลวงฯ ยังคงต้องเดินหน้าออกปฏิบัติการทำฝนหลวงไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ โดยเน้นชี้เป้าเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ หรือเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับ 2 เขื่อนใหญ่หลัก ๆ คือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ และเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ซึ่งปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำต้นทุนต่ำกว่าเกณฑ์ เพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565
โดยสถานการณ์น้ำในเขื่อนแม่กวงฯ ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2564 ปริมาณน้ำในอ่าง 68 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือ 26% ของความจุอ่างฯ น้ำใช้การได้ 54 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 21% ของน้ำใช้การ ถือว่าปริมาณน้ำต้นทุนยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำอยู่มาก ส่วนเขื่อนภูมิพล ปริมาณน้ำในอ่าง 7,793 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 58% ของความจุอ่างฯ น้ำใช้การได้ 3,993 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 41% ของน้ำใช้การ
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลดำเนินงานปฏิบัติการทำฝนหลวงของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคเหนือมีแผนปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ประจำปี 2564 ที่ผ่านมานั้น รับผิดชอบดูแลพื้นที่การเกษตร7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา และตาก และเขื่อนขนาดใหญ่ จำนวน6 แห่ง ได้แก่ 1. พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล 2. เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล 3. เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 4. เขื่อนกิ่วลม
5.เขื่อนกิ่วคอหมา และ 6. เขื่อนแม่มอก โดยผลปฏิบัติการระหว่างวันที่ 1 ก.พ. – 24 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา(หน่วยงานปฏิบัติการฝนหลวงเชียงใหม่และตาก) หน่วยฯ เชียงใหม่ทำการบิน 142 วัน ส่วนหน่วยฯ ตากทำการบิน 110 วัน รวม 706 เที่ยวบิน ช่วยเหลือครอบคลุมในพื้นที่เชียงใหม่ ตาก ลำพูน ลำปาง พะเยา เชียงรายและแม่ฮ่องสอน ส่วนผลปฏิบัติการฝนหลวงการช่วยเหลือพื้นที่เกษตรที่ประสบภัยแล้ง พบว่าบริเวณที่มีฝนตก 10 จังหวัด 76 อำเภอ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา ตาก แม่ฮ่องสอน แพร่ กำแพงเพชร สุโขทัย
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการบินสำรวจพื้นที่การเกษตรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าในพื้นที่ทางการเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ อาทิ อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ไชยปราการ อ.พร้าวและอ.เชียงดาว ข้าวระยะเริ่มแก่และมีบางส่วนเริ่มเก็บเกี่ยวได้แล้ว ส่วนพื้นที่ที่ปลูกข้าวโพด มีทั้งเริ่มออกดอกและเริ่มแก่และมีหลายพื้นที่ปลูกมันฝรั่งและลำไย ใบเขียวสด และเริ่มมีการตัดแต่งกิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ส่วนผลปฏิบัติการฝนหลวงการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนขนาดใหญ่ 6 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมาและเขื่อนแม่มอก ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนรวม 301.55 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ปัจจุบันเขื่อนทั้ง 6 แห่งมีปริมาตรน้ำในเขื่อนรวม 8,238 ล้าน ลบ.ม.
นายสำเริง ยังได้กล่าวถึงแผนการปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ประจำปี 2565 ด้วยว่า แบ่งเป็น 4 ช่วง ช่วงที่ 1 (ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน) จะเน้นแผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า(ลดความหนาแน่นของหมอกควัน และลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 รวมทั้งการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้) ช่วงที่2 (ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม) เน้นแผนการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ (บรรเทาและลดความเสียหายจากการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่การเกษตร) ช่วงที่3 (ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน) เน้นแผนการป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง (สร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ และเพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เกษตรกรรม) และช่วงที่ 4 (ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม) เน้นแผนการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ(เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสำรองไว้เป็นนำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง)
นอกจากนี้ กรมฝนหลวงฯ ยังมีแผนพัฒนาปฏิบัติการฝนหลวงให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยการผลักดันโครงการวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงสำหรับพื้นที่เขตเงาฝนบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยอีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ภาคเหนือมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแนวเขาสูงทอดตัวยาวในแนวเหนือใต้ปกคลุมเป็นส่วนมากจึงทำให้เกิดเขตเงาฝนซึ่งได้รับปริมาณฝนค่อนข้างน้อยและไม่เพียงพอต่อกิจกรรมด้านการเกษตร ประกอบกับการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เขตเงาฝนในบางครั้งอากาศยานไม่สามารถบินทำงานกับกลุ่มเมฆที่กำลังก่อตัวอยู่ในพื้นที่ได้เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานอยู่ในหลายประเทศ
ด้านนายอัธยา อรรณพเพ็ชร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเขื่อนมีพื้นที่รับน้ำฝนเหนือเขื่อน 569 ตารางกิโลเมตร ปริมาณฝนเฉลี่ย 1,250 มิลลิเมตรต่อปี ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 250 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี สามารถจุน้ำได้ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับการเกษตร และป้องกันน้ำท่วมบริเวณสองฝั่งของลำน้ำแม่กวงในเขตอำเภอดอยสะเก็ด สันกำแพง สารภี จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอป่าซาง อำเภอเมืองจังหวัดลำพูน ทั้งนี้ ด้วยลักษณะลุ่มน้ำของเขื่อนที่มีขนาดเล็ก แต่ปริมาณความต้องการใช้น้ำในพื้นที่รับประโยชน์จากเขื่อนมีปริมาณมาก ทำให้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนมีค่อนข้างน้อยซึ่งจำเป็นต้องมีการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนที่ตกลงสู่พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน สำหรับเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของเขื่อนสำหรับกิจกรรมทางการเกษตรมากขึ้น