“จุรินทร์” จี้แจ้งเกิด 12 ข้าวพันธุ์ใหม่ ทวงคืนแชมป์ส่งออกข้าวโลก

03 พ.ย. 2564 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2564 | 16:36 น.

“จุรินทร์” จี้พัฒนาพันธุ์ข้าวตรงความต้องการของตลาด ดันแจ้งเกิดพันธุ์ใหม่ 12 พันธุ์ใน 5 ปี ทวงคืนแชมป์ส่งออกข้าวโลก ดันต่อเนื่องประกันรายได้จูงใจเกษตรกรปลูก ไม่ต้องเลิกไปทำอาชีพอื่น ดึงไอคอนสยาม-พารากอน-กูร์เมต์มาร์เก็ต ช่วยทำตลาดทั้งใน-ต่างประเทศ

ไทยเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก แต่หลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดในราคาสูง ส่งผลให้ต้นทุนราคาข้าวส่งออกของไทยสูงกว่าคู่แข่งขัน และขายยาก มีผลให้ไทยตกบัลลังก์แชมป์ส่งออกข้าวของโลกตั้งแต่นั้นมา ล่าสุดในปี 2563 ไทยอยู่อันดับ 3 ผู้ส่งออกข้าวโลก ส่งออกได้ 5.72 ล้านตัน รองจากอินเดีย และเวียดนามที่ส่งออกได้ 14 ล้านตัน และ 6.3 ล้านตันตามลำดับ มีผลให้รัฐบาลต้องปรับยุทธศาสตร์ข้าวอย่างเร่งด่วนเพื่อทวงคืนแชมป์

 

จุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะเข้าไปดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและสนับสนุนส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวคุณภาพต่อเนื่อง ที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องพันธุ์ข้าว ที่ยังพัฒนาพันธุ์สู้คู่แข่งในตลาดไม่ได้ สุดท้ายจะส่งผลให้ไทยแข่งขันในตลาดโลกไม่ได้ เพราะผลิตภัณฑ์ข้าวเริ่มไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่ต้องการข้าวพื้นนุ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไทยยังไม่สามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มเพิ่มเติม เพื่อสร้างความหลากหลายและตอบสนองความต้องการตลาดโลกได้อย่างทันท่วงที

 

“จุรินทร์” จี้แจ้งเกิด 12 ข้าวพันธุ์ใหม่ ทวงคืนแชมป์ส่งออกข้าวโลก

 

ยุทธศาสตร์ข้าวไทยของรัฐบาล จึงกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าใน 5 ปี (2563-2567) ไทยต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เป็นพันธุ์ใหม่ให้ได้อย่างน้อย 12 พันธุ์ เป็นข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ พื้นนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวหอม 2 พันธุ์ และพันธุ์ข้าวมูลค่าสูงที่ตรงกับความต้องการของตลาดโลกอีก 2 พันธุ์ ซึ่งเป็นทิศทางที่ต้องเดินไป จากนี้จะสำเร็จมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับหน่วยปฏิบัติทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอื่นๆ รวมถึงสถาบันวิจัยพัฒนา มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และเกษตรกร ไทยต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้เป้าหมายบรรลุผลภายใน 5 ปีให้ได้

 

“จุรินทร์” จี้แจ้งเกิด 12 ข้าวพันธุ์ใหม่ ทวงคืนแชมป์ส่งออกข้าวโลก

 

“นโยบายของกระทรวงพาณิชย์มีความชัดเจนในการส่งเสริมการส่งออกข้าวและที่สำคัญที่สุด ปีที่แล้วเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ข้าวเกิดขึ้นและผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยผมเป็นประธานคณะกรรมการในการจัดทำยุทธศาสตร์นำเสนอผ่านที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้รับความเห็นชอบแล้ว ยุทธศาสตร์ข้าวไทยช่วง 5 ปีนับจากนี้ กำหนดเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การส่งออกข้าว และผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก โดยใช้ยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต และมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้นทุนการผลิตข้าวเป็นเท่าไหร่ จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นเป็นเท่าไหร่และตลาดใหม่ที่จะเปิดเพิ่มมีอะไรบ้าง”

 

“จุรินทร์” จี้แจ้งเกิด 12 ข้าวพันธุ์ใหม่ ทวงคืนแชมป์ส่งออกข้าวโลก

 

 ขณะเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายในการดูแลเกษตรกรเพื่อให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประกอบด้วย นโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด เพื่อเป็นหลักประกันว่า เมื่อยามใดที่ราคาข้าวในตลาดตกต่ำ รัฐบาลมีหลักประกันรายได้ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท หากราคาต่ำกว่ารายได้ที่ประกันจะมีเงินส่วนต่างเพื่อมาเยียวยาให้กับเกษตรกร ทำให้มีรายได้รวมเป็น 10,000 บาทตามรายได้ที่ประกัน ผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิ ประกันรายได้ตันละ 15,000 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ต้องการให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวยังชีพอยู่ได้และไม่ต้องเลิกอาชีพนี้ไปทำอย่างอื่น แต่ขอให้ท่านปลูกข้าวที่มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ยังมีนโยบายการส่งเสริมการส่งออกข้าว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและภาคเอกชน จะเป็นหัวเรือหลักในการหาตลาดส่งออกข้าว ล่าสุดในเดือนกันยายน สามารถส่งออกข้าวหอมมะลิได้ 90,600 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 45.76% ซึ่งตัวเลขเริ่มดีขึ้น จากครึ่งปีแรกราคาข้าวไทยแข่งขันลำบาก ส่วนหนึ่งเพราะค่าเงินบาทแข็งมาก ทำให้ประเทศผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวคู่แข่งที่มีราคาถูกกว่า แต่เวลานี้ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าทำให้ประเทศผู้ซื้อมีความรู้สึกว่า ราคาข้าวไทยถูกลงสามารถสู้ราคาคู่แข่งได้ ประกอบกับมีความมั่นใจในคุณภาพ จึงหันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้นในหลายตลาด เช่น สหรัฐฯ ฮ่องกง สิงคโปร์และจีน เป็นต้น และปลายปีนี้คาดการส่งออกจะดีขึ้นอีก

 

“จุรินทร์” จี้แจ้งเกิด 12 ข้าวพันธุ์ใหม่ ทวงคืนแชมป์ส่งออกข้าวโลก

 

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เผยว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับผู้บริหารของกระทรวงฯ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และสมาคมโรงสีข้าวไทย จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทยปีการเพาะปลูก 2563 /64 ครั้งที่ 39 และการประกวดข้าวสารถุงคุณภาพดีเด่น ประจำปี 2564 ณ กระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการทำเอ็มโอยูกับไอคอนสยาม พารากอน และกูร์เมต์มาร์เก็ตเพื่อส่งเสริมการตลาดข้าวไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

 

สำหรับการประกวดข้าวเปลือกหอมมะลิไทย ที่ผลิตโดยเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในครั้งนี้ มี 18 รางวัล สถาบันเกษตรกรมี 3 รางวัล และการประกวดข้าวสารถุงไทยที่มีแบรนด์ต่าง ๆ จำนวน 12 รางวัลรวมทั้งสิ้น 33 รางวัล

 

รายงานจากกรมการค้าภายใน เผยว่า ผู้ชนะการประกวดข้าวหอมมะลิ ประเภทเกษตรกรรายบุคคล ได้แก่ 1. นางสุดสดา ซองศิริ จ.นครพนม ได้รับรางวัลชนะเลิศ 2. นายฐาปกรณ์ เปดี จ.หนองบัวลำภู รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 3. นางเยี่ยม พรมยา จ.ร้อยเอ็ด รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง และยังมีรางวัลชมเชยอีก 15 รางวัล สำหรับผู้ชนะประเภทสถาบันเกษตรกร ได้แก่ 1. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินชุมพลบุรี จำกัด จ.สุรินทร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ 2. วิสาหกิจชุมชนข้าวหอมมะลิงาม 105 จ.ร้อยเอ็ด รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และ 3. กลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าว ตำบลชุมภูพร จ.บึงกาฬ รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3728 วันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2564