เอกชนหนุนรัฐ กู้เพิ่ม 7.5 แสนล้าน หนุนจีดีพีโต5%

01 พ.ย. 2564 | 01:28 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2564 | 08:28 น.

ส่องพ.ร.ก.เงินกู้เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 เพิ่มเติม 5 แสนล้าน ล่าสุดเหลือกู้ได้อีกเพียง 2.6 แสนล้านบาท รองรับใช้แก้ปัญหาโควิด-19 ทั้งปี 65 เอกชนหนุนกู้เพิ่ม 7.5 แสนล้าน สร้างแรงเหวี่ยงให้เศรษฐกิจไทยโตได้ 5% ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

30 กันยายน 2564 หลังพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาทสิ้นสุดอายุุลง แม้จะเหลือวงเงินกู้เล็กน้อยก็ตาม เมื่อก้าวเข้าสู่ปีงบประมาณ 2565 การใช้งบประมาณในโครงการดังกล่าวจะต้องมาใช้ในกรอบวงเงินของพ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทแทน

 

ผ่านไปเพียงไม่ถึง 1 เดือนของปีงบประมาณ 2565 พบว่า รัฐบาลได้อนุมัติการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ไปแล้วรวมกว่า 237,513 ล้านบาท โดยเป็นการอนุมัติโครงการเพื่อกู้เงินในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 92,027 ล้านบาท ขณะที่ก่อนหน้านี้ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลได้มีการอนุมัติโครงการเพื่อกู้เงินภาใต้พ.ร.ก.ฉบับนี้ ไปแล้ว 145,486 ล้านบาท จากวงเงินที่ตั้งไว้ 150,000 ล้านบาท

ข้อมูล ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2564 พบว่า โครงการที่อนุมัติส่วนใหญ่ เป็นโครงการช่วยเหลือ เยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเฉพาะโครงการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาได้แก่ การเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฟส3 การเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งอนุมัติใช้เงินกู้ไปแล้ว 136,621 ล้านบาท

การใช้จ่ายภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท

 ขณะที่โครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้แก่ คนละครึ่ง เฟส 3 ยิ่งใช้ยิ่งได้ และการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs มีการอนุมัติใช้เงินกู้ไปแล้ว 82,521 ล้านบาท และโครงการใช้จ่ายเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข ได้อนุมัติใช้เงินกู้ไปแล้ว 18,372 ้ล้านบาท ส่งผลให้พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะคงเหลือกรอบวงเงินกู้ได้อีกเพียง 262,485 ล้านบาท เท่านั้น

จึงเกิดคำถามตามมาว่า วงเงินที่เหลือจะเพียงพอในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ทั้งปี 2565 หรือไม่ และรัฐบาลจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมอีกหรือไม่

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เม็ดเงินที่เหลือจากพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท อาจไม่เพียงพอในการสร้างแรงเหวี่ยง เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) โตได้ถึง 5% ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่วางไว้

 

ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องออกพ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มเติมอีก แต่การก่อหนี้ใหม่ ไม่ควรทำให้หนี้สาธารณะพุ่งถึง 70% ของจีดีพี ตามกรอบวินัยการคลังล่าสุดที่มีการขยายเพดานไว้

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้า ไทย

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะที่เหมาะสมของไทย ไม่ควรเกิน 65% ของจีดีพี ดังนั้นเท่ากับว่า รัฐบาลสามารถก่อหนี้ได้เพิ่มอีกประมาณ 7.5 แสนล้านบาท โดยอาจเป็นลักษณะของออกพ.ร.ก.เงินกู้ ครั้งละ 5 แสนล้านบาท ซึ่งการที่รัฐบาลขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเป็นไม่เกิน 70% ของจีดีพี ก็เพื่อต้องการเปิดช่องในการกู้เงินเพิ่มอยู่แล้ว ดังนั้นเชื่อว่า รัฐบาลจะมีการเสนอต่อสภาฯ เพื่อออก พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับใหม่ให้ทันในช่วงกลางไตรมาส 1/65 หรือช่วงต้นไตรมาส 2/65

 

“ภาคเอกชนสนับสนุนให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติม เพื่อสร้างแรงเหวี่งให้เศรษฐกิจไทยโตได้ถึง 5% ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมองว่า การที่รัฐบาลขยายเพดานหนี้ก็เพื่อเปิดช่องสำหรับการกู้เงินเพิ่มเติมอยู่แล้ว และตัวเลขที่เหมาะสมคือ ทยอยออก พ.ร.ก.เงินกู้ครั้งละ 5 แสนล้าน เพราะเศรษฐกิจไทยผ่านช่วงที่เกิดวิกฤติหนักที่ต้องใช้เม็ดเงินมากถึง 1 ล้านล้านบาทมาแล้ว ซึ่งการออก พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ เป็นการเปิดช่องในการกู้ ดังนั้นหากสถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องกู้เพื่อใช้เงินทั้งหมดก็ได้” นายธนวรรธน์ กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,727 วันที่ 31 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564