ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ เปิดเผยว่า การที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นกระทบกับผู้บริโภคค่อนข้างมาก รวมถึงมีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยระยะหนึ่ง เพราะในช่วงหลังราคาสินค้าและบริการเริ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากราคาขายปลีกน้ำมันที่สูงขึ้น อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยระดับนึงแต่ไม่มาก
"ตอนนี้ไปโฟกัสกันที่เรื่องของการเปิดประเทศ แต่หากนานเกินไปก็จะกระทบมากขึ้น เพราะต้นทุนการขนส่งขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน โดยรถบรรทุกค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งเป็นค่าน้ำมัน เพราะฉะนั้น ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา 20-30% แสดงว่าต้นทุนในการขนส่งเพิ่มขึ้น 10-15%"
สำหรับราคาน้ำมัน และส่วนประกอบของราคาขายปลีก สะท้อนถึงวัตถุประสงค์หลายอย่างที่ขัดแย้งกัน ส่วนหนึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการให้ผู้ใช้ได้ราคาที่เป็นธรรม ในขณะเดียวกันความเป็นธรรมต้องเป็นธรรมกับผู้ผลิต และผู้ค้าด้วย
ส่วนการลดภาษีสรรพสามิตจะเห็นได้ชัดเจน โดยหากลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ซึ่งปัจจุบันใช้น้ำมันดีเซลวันละ 60 ล้านลิตร เงินภาษีของรัฐจะหายไปเดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาท ปีละ 120,000 ล้านบาท คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้สรรพสามิตจากน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม หากมีการตั้งคำถามว่าจะยอมหรือไม่ หากรายได้ภาษีสรรพสามิตลดลงปีละ 120,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ามากเกินไป
ดังนั้น หากจะลดลิตรละ 1-2 บาทคงน่าจะมีความเหมาะสมมากกว่า โดยวัตถุประสงค์ของการเก็บภาษีสรรพสามิต คือการเก็บภาษีสินค้าสิ้นเปลืองต่างๆ แต่สรรพสามิตที่เก็บจากน้ำมันจะเปลี่ยนไปตรงที่ว่าต้องเก็บเพื่อเป็นภาษีคาร์บอน เพราะน้ำมันเมื่อเผาพลาญเเล้วจะเกิดเป็นก๊าซเรือนกระจก ซึ่งขณะนี้โลกกำลังต้องการลดภาวะเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม วิธีในการลดภาวะโลกร้อนคือการเก็บภาษีให้เหมาะสม โดยต้องเท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น