ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หากจะช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซลต่อไป มีข้อเสนอว่าควรยกเลิกเพดานราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ที่ใช้มานานถึง 15 ปี โดยเพดานราคาน้ำมันที่เหมาะสม ควรอยู่ที่ 34 บาทต่อลิตร ซึ่งสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ และสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก
นอกจากนี้ ควรปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 2 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตร รวมทั้ง ปรับลดการผสมไบโอดีเซลลงเหลือ 5% จากที่กำหนดไว้ 7-10% เพื่อช่วยลดภาระของการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันขายปลีกในไทย ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปช่วยพยุงราคามาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนชัดเจนจากข้อมูลตัวเลขราคาน้ำมันตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม จนถึงวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซิน ในตลาดสิงคโปร์ ปรับขึ้นเฉลี่ย 87-90% ส่วนราคาน้ำมันดีเซล ปรับขึ้นประมาณ 70%
ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีก แก๊สโซฮอล์ในไทย ปรับขึ้นประมาณ 40% และราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นประมาณ 20-38% ซึ่งเป็นผลจากการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันปรับลดค่าการตลาด และการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปอุดหนุน จนเงินแทบจะหมดอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องการให้ประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลพยายามดูแลราคาน้ำมันมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี นอกจากราคาน้ำมันขายปลีกในไทย จะขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลกแล้ว โครงสร้างราคาน้ำมันของไทย ยังส่งผลสำคัญต่อราคา โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีต่างๆ และการปรับเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งหากยกเว้นการจับเก็บภาษีและไม่มีการผสมไบโอดีเซลเลย จะช่วยลดราคาน้ำมันลงได้ประมาณ 10 บาทต่อลิตร แต่คงไม่สามารถทำได้
"เข้าใจว่าสถานการณ์โควิด-19 (covid-19) ทำให้กระทรวงการคลังเก็บภาษีได้ไม่เข้าเป้า โดยเฉพาะภาษีvat แต่ถ้ารัฐบาลยังมีนโยบายพยุงราคาน้ำมันต่อไป แล้วกองทุนน้ำมันฯ เงินหมด ก็ควรจะช่วยกัน ด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงบ้าง"