ปาล์มน้ำมันโลกร้อนแรง ดันราคาพุ่ง 10.20 บาท/กก.สูงสุดในรอบ 10 ปี

04 พ.ย. 2564 | 15:30 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2564 | 22:47 น.

ชาวสวนปาล์มเฮ ราคาปาล์มพุ่ง สูงสุดในรอบ 10 ปี “เฮียหลี” เผยราคา 2 เด้ง โควิดถล่ม “มาเลเซีย” ซัพพลายตลาดโลกหด ถั่วเหลือง “สหัฐอเมริกา” วูบชี้เป็นปีทองเกษตรกรไทยลากยาวถึงกลางปี 2565 "ต้นพันธุ์" ขาดตลาด แย่งกันปลูก วางมัดจำ50% กลางปีหน้าถึงจะได้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ประกิต ประสิทธิ์ศุภผล

 

นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล หรือ "เฮียหลี"กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.เค.มารีน เทรดดิ้ง จำกัด (บจก.)  ผู้ประกอบการขนส่งทางเรือและท่าเทียบเรือ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคาปาล์มในช่วงนี้  ที่ร้อนแรง เป็นไปตามราคาราคาตลาดโลก ทั้งที่ผลผลิตของมาเลเซียไม่ได้ลด ประกอบกับมีปัญหาเรื่องโควิดต่างชาติเข้าไม่ได้ก็ทำให้ปาล์มไม่มีคนเข้าไปตัดในสวน ทำให้ผลผลิตลดลง ทั้งที่ผลผลิตความจริงไม่ได้ลดลง  แต่ไม่มีแรงงานเข้าไปตัดปาล์มเพื่อผลิตเป็นน้ำมัน เกษตรกร หรือชาวสวนปาล์มก็เกิดความเสียหาย ปาล์ม ร่วงเน่า เสีย นี่คือประเด็นที่ 1

 

ส่วนประเด็นที่2 ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19  ร่วม 2 ปี ทางสหรัฐเมริกาติดโควิดตั้งแต่เริ่มต้นก็มีปัญหาไม่มีชาวไร่ที่จะไปปลูกถั่วเหลืองทำให้ผลผลิตลดลง ราคาถั่วเหลืองก็ขยับขึ้น ขณะที่ปาล์มมาเลเซีย แม้ว่าผลผลิตไม่ได้ลด แต่ไม่มีแรงงานเข้าไปตัดมีความเสียหาย ส่วนถั่วเหลืองเป็นพืชล้มลุกที่จะต้องปลูกตามฤดูกาล ตอนช่วงมีโควิด คนไปปลูกน้อยลง ผลผลิตน้อยลง ทำให้ซัพพลายน้อยลง แต่ดีมานด์ยังพอมีอยู่ มากกว่าซัพพลาย ราคาถั่วเหลืองขยับขึ้น เพราะฉะนั้นการที่น้ำมันปาล์มที่ราคาร้อนแรงขึ้นมาจากปัจจัย 2 เด้งที่ได้กล่าวไปแล้ว

ราคาเมืองไทย ก็ต้องตามราคาตลาดโลก ส่วนผลผลิตในประเทศที่เกินโอเวอร์ซัพพลายก็ต้องดันออกไปส่งขายตลาดต่างประเทศ ซึ่งขายได้ในราคาที่สูงกว่า ก็เป็นไปตามกลไกตลาด มองว่าสถานการณ์จะเป็นแบบนี้ไปถึงกลางปี 2565 นับว่าเป็นปีทองของเกษตรกร เป็นข่าวดีของเกษตรกรภาคใต้ ไม่เคยมีราคาอย่างนี้มานานมาก แม้ว่าผลผลิตจะมีไม่น้อย แต่ได้ราคาที่เหมาะสม

 

ชโยดม สุวรรณวัฒนะ

 

สอดคล้องกับนายชโยดม สุวรรณวัฒนะ ประธานกลุ่มคนปลูกปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทยและกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ตลาดโลกมีความต้องการสูง โดยเฉพาะประเทศอินเดีย ตอนนี้รับซื้อไม่อั้นได้ราคาดีกว่า  ราคาที่ขายได้ อัตราน้ำมัน 22% ราคา 10.20 บาท/กิโลกรัม เป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 10 ปี

 

"ปาล์ม เกษตรกรกว่าจะผ่านจุดนี้มาได้ ขาดทุนมาหลายปี เมื่อ 3 ปีที่แล้วก็มีการลดพื้นที่ปลูก เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ก็ไม่ได้ขยายพื้นที่เพิ่ม ไทยเองก็ปล่อยไม่คุ้มที่จะดูแล ขาย 1.80- กว่า 2 บาท/กก. ทำให้กระทบต้นพันธุ์ก็ไม่มีคนซื้อ ขายไม่ออก เรียกว่าซื้อต้น แถมต้น ก็ไม่มีคนปลูก ตอนนี้ราคาต้นละ 300 บาท คนแย่งกันปลูก ต้องจองข้ามปี แล้วต้องจ่ายเงินมัดจำก่อน 50% ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์แบบนี้มาก่อนเลย"