5เมกะเทรนด์ในบริบทโลกใหม่ซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย

06 พ.ย. 2564 | 05:11 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2564 | 12:22 น.

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผย 5 เมกะเทรนด์ในบริบทโลกใหม่ ซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทั้งหนี้เสียพุ่งสูงสุดในรอบ6ปี ขณะที่วิกฤตครั้งนี้ยังได้ซ้ำเติมปัญหาหนี้ในกลุ่ม “ผู้อายุน้อย” (ต่ำกว่า 35 ปี) มากกว่ากลุ่มอื่น

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ทำรายงานวิจัยเรื่อง “โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย : ความเปราะบางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” สำรวจความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เป็น 5 เมกะเทรนด์ในบริบทโลกใหม่ และมาซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ได้แก่

 

1.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะกรณี “สหรัฐกับจีน” ที่มีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาต่างประเทศสัดส่วนสูง ในหลายด้านทั้ง การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนโดยตรงต่างชาติ (เอฟดีไอ)

 

ดังนั้นหากความขัดแย้งของ 2 มหาอำนาจเพิ่มขึ้น แล้วประเทศไทยถูกบังคับให้เลือกข้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ว่าเลือกข้างใดภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องก็ต้องได้รับผลกระทบ

 

2.พัฒนาการเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดที่จะสร้างโอกาสใหม่ แต่ก็เป็นความท้าทายของธุรกิจไทยหากไม่เร่งพัฒนาตัวเองก็อาจตกรถไฟ รวมถึงความเปราะบางของโครงสร้างส่งออกไทย โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี รวมทั้งยังขาดการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

 

3.ภาวะโลกร้อน ภัยเงียบที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรแล้ว ยังพบความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทยที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

4.การเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์” และในอนาคตจะก้าวสู่ “สังคมสูงวัยสุดขีด” (hyper-aged society) คือมีคนสูงวัยมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นความเปราะบางของโครงสร้างแรงงานไทยมากยิ่งขึ้น

 

5.วิกฤตโควิด-19 สร้าง “แผลเป็น” ต่อเศรษฐกิจไทย ที่การเปิดประเทศไม่อาจสามารถแก้ไขปัญหาได้ ประเด็นสำคัญคือความเปราะบางทางการเงินของธุรกิจและครัวเรือนไทย โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่รุนแรงขึ้น

 

รายงานของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ ระบุว่า ข้อมูลบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนไทยเริ่มผิดนัดชำระหนี้และเป็นหนี้เสียเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้เมื่อปลายปี 2020 เป็นต้นมา

 

โดยคนไทยมีปัญหาการชำระหนี้สูงขึ้นมาก และทำให้ผู้กู้ที่เป็นหนี้เสียในไตรมาส 2/2021 ขยับเพิ่มเป็น 18.9% ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 6 ปี หมายความว่าผู้ที่กู้เงิน 100 คน จะพบว่าเป็นหนี้เสียจำนวนราว 19 คน

 

ที่สำคัญคือวิกฤตครั้งนี้ยังได้ซ้ำเติมปัญหาหนี้ในกลุ่ม “ผู้อายุน้อย” (ต่ำกว่า 35 ปี) มากกว่ากลุ่มอื่นจึงกลายเป็นการสร้างแผลเป็นกับกลุ่มคนวัยทำงานที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต