โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ในปีการศึกษา 2565 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดสรรสิทธิพื้นที่จำหน่าย ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 3 โดยแยกออกจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด โดยสิ้นเชิง และมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อลดช่องว่างและโอกาสในการทุจริตของผู้ที่มีส่วนได้เสีย ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากแวดวงการโคนม
แหล่งข่าวจากวงการโคนม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากกระแสข่าว องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการนำน้ำนมดิบเข้าร่วมนมโรงเรียนจำนวนมาก ล่าสุด นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ อ.ส.ค. ส่งข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ที่เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน มาให้พิจารณาว่า “อ.ส.ค. กินรวบนมโรงเรียน” ตามที่มีข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการสหกรณ์โคนมจริงหรือไม่
“ตั้งแต่มีฝ่ายการเมืองมากำกับดูแล อ.ส.ค. มีคำถามว่า ทำไมบทบาทของ อ.ส.ค.จึงเปลี่ยนไปเป็นเรื่องของการหาเงินจากโครงการภาครัฐมากขึ้น และก็มีคำถามกลับมาว่า ทำไมไม่ให้ อ.ส.ค.มากกว่า นี่เป็นคำพูดนักการเมือง หากศึกษาจริง จะทราบว่า ทำไม อ.ส.ค. ถึงถูกดึงให้มาทำสัญญาเป็นตัวกลางระหว่างเอกชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากเป็นเครื่องมือของรัฐ สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้เป็นกรณีพิเศษ เหตุผลมีแค่นั้น หาก อ.ส.ค. จะมาขอแค่ค่าบริหาร 2% ก็คงไม่มีใครว่า ไม่ใช่มาทุ่มร่วมนมโรงเรียนในลักษณะนี้”
แหล่งข่าวกล่าวว่า ถ้ามองในเชิงธุรกิจ อ.ส.ค. จะขาดทุนเท่าไร ที่ต้องมาขายนมโรงเรียน 7.80 บาทต่อกล่อง ขณะนมพาณิชย์ ขายกล่องละ 10 บาท หากต้นทุนสูงจะเหลืออะไร ทั้งนี้หากย้อนไปดูในอดีตที่มีการเปิดประมูลเสรี อ.ส.ค. ไม่เคยมียอดขายนมโรงเรียนเลย เพราะบอร์ดจะไม่ให้ประมูลต่ำกว่าราคากลาง อย่างไรก็ดีหาก อ.ส.ค. ขาดทุน จากช่วยเหลือเกษตรกรเชื่อว่ารัฐบาลรับได้ เพราะเป็นเครื่องมือ แต่ถ้ามาแข่งกับเกษตรกร แล้วยังขาดทุนแล้วใครจะยอมรับ
ด้าน นายนพดล เจริญกิตติ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด กล่าวว่า อ.ส.ค. เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จะต้องเน้นบทบาทการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม และเป็นเครื่องมือของรัฐในการแก้ปัญหานมล้น หรือนมไม่มีที่จำหน่าย ตรงนี้จะได้ชื่อเสียงมากกว่าที่จะมาเป็นผู้เล่นเสียเอง (กราฟิกประกอบ) ทั้งนี้เป้าหมายของ อ.ส.ค.ยอดขายที่จะเป็น 8 พันล้านถึงหมื่นล้านบาท จะมานับในโครงการนมโรงเรียนไม่ได้
ส่วนสถานการณ์นมผงโลก ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาจัดสรรโควตาและอัตราภาษีนำเข้านมผงขาดมันเนย นมดิบ และนมพร้อมดื่ม ผู้ประกอบการได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า หากราคานมผงปรับราคาขึ้นไป 3,800-4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ต้นทุนจะเท่าราคาน้ำนมดิบที่ปัจจุบันในไทยคิดเฉลี่ย 18-19 บาทต่อกิโลกรัม หากมองย้อนกลับไปเกรงจะเกิดเหตุการณ์เหมือนในปี 2549 หรือ 15 ปีที่แล้ว
“เหตุการณ์เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ราคานมผงสูงขึ้นจนทุกคนวิ่งแย่งซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร และก็ต้องยอมรับว่ามีเกษตรกรบางกลุ่มเห็นแก่ได้ ใครให้ราคาแพงหน่อยก็วิ่งไปหาเจ้านั้น จนทำให้ต้องฉีกสัญญาเอ็มโอยูทิ้ง มองแล้วไม่ยั่งยืน แล้วปีหน้าใครจะอยากทำสัญญา”
ขณะที่ นายชนะศักดิ์ จุมพลอานันท์ นายกสมาคมกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมน้ำนมดิบ กล่าวว่า เป็นสิทธิของ อ.ส.ค. ที่เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน เพราะก็รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรด้วย เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่หากจะไปมุ่งที่ตลาดนมพาณิชย์จะดีกว่าหรือไม่ จากขายได้ราคาสูงกว่าตลาดนมโรงเรียน
นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตัวเลขน้ำนมดิบที่ อ.ส.ค. ยื่นเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนถือว่าสูงมาก ก็เข้าใจว่าเป็นสิทธิที่จะยื่นเท่าไรก็ได้ ไม่ได้มีข้อบังคับ ซึ่งในชุมนุมสหกรณ์โคนมฯ ก็มีสมาชิกที่ส่งน้ำนมดิบ ให้ อ.ส.ค. ด้วย แต่ความจริงแล้ว อ.ส.ค. ทำตามหน้าที่ บทบาทของ อ.ส.ค. มีงบประมาณ มีรายได้ ทำกำไรเหมือนรูปธุรกิจ เช่นเดียวกับเอกชน แตกต่างจากสหกรณ์ที่มีกำไรจะคืนกำไรในรูปปันผล และแบ่งหุ้นให้สมาชิก
“อ.ส.ค. ต้องย้อนไปดูว่ารายได้จากโครงการนมโรงเรียนเอาไปทำอะไร และที่สำคัญเป็นรัฐวิสาหกิจ ดีกว่าภาคเอกชน ในฐานะที่ผมเป็นประธานชุมนุมฯ มองว่าภาคสหกรณ์จะกระทบแน่นอนไม่มากก็น้อย แต่ถ้าเพิ่มไม่มาก ไม่ทำให้ทุกคนเดือดร้อนก็ไม่คัดค้านอยู่แล้ว”
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,731 วันที่ 14-17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564