ตามที่กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้มีหนังสือที่ พน 0402/ว 10707 ถึงผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2564 เรื่อง ประกาศกำหนดชนิดและอัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 โดยให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 รับทราบอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีการเปลี่ยนแปลง อัตราสำรองน้ำมันดิบ 4% ปรับเพิ่มเป็น 5% และอัตราสำรองก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) จาก 1% เป็น 2% โดยสำรองน้ำมัน และก๊าซปิโตรเลียม ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไปนั้น
แหล่งข่าวจากวงการค้าก๊าซปิโตรเลียมแหลว (LPG) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากประกาศดังกล่าวผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ได้มีการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มีความเห็นไม่เห็นด้วยและขอให้กรมธุรกิจพลังงานได้ทบทวน หรือยกเลิกประกาศ เพราะการเพิ่มสำรองเป็น 2%จะทำให้ในแต่ละเดือนผู้ค้าจะต้องสำรองก๊าซเพิ่มขึ้นจาก 1% (32,745 ตันต่อเดือน) เป็น 65,491 ตันต่อเดือน (2%) คิดเป็นเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นกว่า 1,113 ล้านบาทต่อเดือน (คำนวณจากราคาก๊าซหน้าโรงกลั่นที่ 17 บาทต่อ กก. และยอดการใช้ LPG คาดการณ์ปี 64 ประมาณ 3.27 ล้านตัน ) ทำให้แบกภาระต้นทุนเพิ่ม รวมถึงดอกเบี้ยที่เงินต้องไปจมอยู่
นอกจากนี้ในรายที่ต้องไปสร้างถึงหรือคลังก๊าซสำรองเพื่อการนี้ มีต้นทุนประมาณ 10 ล้านบาทต่อปริมาณการจัดเก็บก๊าซ 100 ตัน หาก 1,000 ตันก็ 100 ล้านบาท ขณะที่หากไปเช่าคลังเก็บก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเช่นกัน รวมถึงมีค่าขนส่ง ค่าดอกเบี้ย เหมือนเอาเงินไปดองไว้กับนโยบายรัฐบาล แทนที่เงินจำนวนนี้จะถูกนำออกสู่ตลาดเพื่อส่งเสริมการค้าเสรี หากผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระที่สูงขึ้นเช่นนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ราคาก๊าซ LPG ตั้งแต่ปี 2565 จะขยับขึ้นอีก 1 บาทต่อกิโลกรัม ผลที่จะตามมาคือ ประชาชนต้องแบกรับภาระดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และรัฐบาลต้องเข้ามาอุดหนุนไม่รู้จบ
“ประกาศดังกล่าวผู้ค้ามาตรา 7 หลายราย เช่น ปตท., สยามแก๊สฯ, บิ๊กแก๊สฯ, พีเอพี แก๊ส วัน, อูโน่แก๊ส, ยูนิคแก๊สฯ, ออร์คิดแก๊สฯ,แอตลาส เอ็นเนอยี เป็นต้น ได้ทำหนังสือถึงกรมธุรกิจพลังงานเพื่อขอให้ทบทวน และยกเลิกประกาศ โดยความเห็นส่วนใหญ่ระบุว่า นอกจากจะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนแล้ว ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจก๊าซแอลพีจีอยู่ในช่วงขาลง ปริมาณการใช้ในภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม หลายปีก่อนช่วงน้ำมันดิบแพงระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล คนหันมาใช้แอลพีจีระดับ 4 แสนตันต่อเดือน ล่าสุด (ก.ย.64) เหลือระดับ 2.7 แสนตันต่อเดือน โดยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และในอนาคตอาจลดลงอีกจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า”
อย่างไรก็ดี กรมธุรกิจพลังงานให้เหตุผลในการเพิ่มสำรองเป็น 2% ว่า เพื่อความมั่นคงของประเทศและป้องกันความเสี่ยงต่อการขาดแคลน จากปริมาณการใช้หลังผลกระทบจากโควิด-19 ได้เริ่มฟื้นตัวกลับมาแล้ว แต่ในข้อเท็จจริงผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่ เช่น ปตท.ยืนยันว่าไทยจะไม่มีการขาดแคลนก๊าซ LPG แน่นอน และการสำรองที่ 1% ก็เพียงพอใช้ ปัจจุบันไทยผลิตก๊าซ LPG ได้เองในประเทศ 100% หากไม่เพียงพอสามารถนำเข้าได้ใน 7 วัน
ในประเด็นเดียวกัน ผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการพลังงาน (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงถึงที่มาที่ไป ในการประกาศระเบียบดังกล่าวมาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจะเป็นการซ้ำเติมผู้ค้า และประชาชนหรือไม่
“ประกาศสำรองก๊าซแอลพีจีเป็น 2% มีผู้ค้ารายใหญ่บางรายที่ไม่ได้รับผลกระทบ จากเขามีคลัง และที่เหลือเก็บสำรอง เนื่องจากเมื่อในช่วงน้ำมันแพงเขามียอดขายสูงมาก ทำให้มีคลังสำรองมาก ช่วงนี้พอยอดขายตกลงทำให้มีพื้นที่เก็บเหลือและขาดรายได้ ทำให้ต้องผลักดันให้สำรองเพิ่มเพื่อให้รายเล็กไปเช่าคลังเก็บแก๊ส เพื่อเพิ่มรายได้ และอีกทางเพื่อตัดการเติบโตของคู่แข่ง ทราบว่าเขาได้นำนโยบายหรือประกาศนี้ไปวิ่งล็อบบี้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลให้เพิ่มสำรอง อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการการพลังงานจะมีการประชุมในวันที่ 18 พ.ย.นี้ คงจะมีผลสรุปว่าจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงหรือให้ข้อมูลหรือไม่ อย่างไร และจะมีความเห็นอย่างไร ซึ่งคงต้องจับตา” แหล่งข่าว กล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3732 วันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2564