กองทุนน้ำมันถังแตกจ่อกู้เงินจาก พ.ร.ก. 5 แสนล้านอุ้มแอลพีจี

04 ต.ค. 2564 | 08:59 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2564 | 16:03 น.

สุพัฒนพงษ์เผย กบง.มีมติแยกบัญชีระหว่างแอลพีจีและน้ำมันออกจากกันเด็ดขาด หลังติดลบกว่า 1.7 หมื่นล้าน พร้อมเตรียมเสนอสภาพัฒน์อนุมัติวงเงินจาก พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาทช่วย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติในการช่วยเหลือก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี (LPG) โดยล่าสุดได้แยกบัญชีระหว่างแอลพีจีและน้ำมันออกจากกันเด็ดขาด เนื่องจากติดลบกว่า 1.7 หมื่นล้านบาทจากการอุดหนุนราคา จนใกล้เพดานที่กำหนดคือ 1.8 หมื่นล้านบาท และหลังจากนี้จะเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ อนุมัติวงเงินจากพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทมาช่วยเหลือเป็นเวลา 4 เดือน (ต.ค. 64-ม.ค. 65) เพื่อคงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) โดยจะช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มครัวเรือนเท่านั้นไม่รวมภาคขนส่ง

"ปัจจุบัน กบง. ประกาศตรึงราคาแอลพีจีจนถึงเดือนธันวาคม 64   โดยขณะนี้เงินอุดหนุนจะอยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งจากการเข้าไปดูแลลราคาแอลพีจีในราคาดังกล่าวนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 63 จนถึงปัจจุบันใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ไปแล้วกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท"

สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สำหรับราคาแอลเอ็นจีตลาดจรที่ปรับตัวสูงขึ้นถึงประมาณ 32-34 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูนั้น ยอมรับว่าหากต้องนำเข้ามาเป็นจำนวนมากก็จะกระทบต่อค่าไฟฟ้า จึงสั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไปหารือร่วมกันว่าจะใช้เชื้อเพลิง หรือโรงไฟฟ้าจากส่วนใดมาทดแทน เพื่อให้กระทบค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด   

"ประชาชนกังวลเห็นราคาน้ำมันขึ้นติดต่อกัน แต่ต้องเรียนว่าเป็นการปรับขึ้นทั้งตามราคาน้ำมันในตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาเรื่องสภาพอากาศ ความต้องการใช้งานที่มีมากขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทำให้การผลิตน้ำมันหายไปในระดับสากล  ซึ่งส่งผลทำให้ราคาน้ำมันกระโดดขึ้นมาพรวดพราดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา"

ขณะที่ค่าเงินบาทก็มีส่วนที่ทำให้ราคาพลังงานในประเทศขยับตัวขึ้น  เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันจากตลาดโลก  โดยทุกวันนี้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินไหลออกเพื่อดูแลช่วยเหลือภาคประชาชนตลอดเวลาต่อเดือนประมาณ 2 พันล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาน้ำมันบางส่วน  หรือเรื่องก๊าซหุงต้ม  ซึ่งเป็นสินค้าพลังงานที่ใช้ในครัวเรือน