ค้าปลีกผิดหวังกขค. กระทุ้งเอาอย่างจีน ดูแลแข่งขันการค้าเป็นธรรม

17 พ.ย. 2564 | 10:25 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ย. 2564 | 17:46 น.

วงการค้าปลีกผิดหวัง กขค.แนะเอาอย่าง SAMR ของจีนลุยดูแลแข่งขันการค้าเป็นธรรม ไม่ไว้หน้ารายใหญ่เอาเปรียบคู่ค้า จำกัดการแข่งขัน ชี้สัญญาณอันตรายผู้บริโภคไทย หลังห้างค้าปลีก ค้าส่งรายใหญ่ ดันสินค้าเฮาส์แบรนด์-ธุรกิจในเครือเสียบตลาดเพียบ ลดทางเลือกผู้บริโภค

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีรายงานจากสำนักบริหารการกำกับดูแลตลาดแห่งรัฐของจีน (SAMR) ได้ออกแถลงการณ์ลงโทษปรับเงิน ยักษ์ธุรกิจจัดส่งอาหารรายใหญ่ที่ชื่อ เหม่ยถวน (Meituan) เป็นเงินกว่า 3,442 ล้านหยวน หรือกว่า 18,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3% ของรายได้ในรอบปี 2563 ของธุรกิจรายดังกล่าว ที่มีมูลค่ากว่า 602,000 ล้านบาท  โทษฐานใช้อำนาจเหนือตลาด โดยการบังคับบรรดาผู้จัดจำหน่ายอาหารให้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือที่มีลักษณะผูกขาด และเรียกเก็บเงินมัดจำจากผู้จำหน่ายอาหาร รวมทั้งใช้นโยบาย เลือกหนึ่งจากสอง เพื่อจำกัดและกีดกันคู่แข่งในตลาด

 

โดย SAMR มองว่า พฤติกรรมของเหม่ยถวนนั้น เป็นการบ่อนทำลายนวัตกรรม และวิถีของแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ถือเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของผู้ค้า และผู้บริโภค พร้อมกับสั่งให้เหม่ยถวนคืนเงินมัดจำกว่า 1,000 ล้านหยวน ( 6,000 ล้านบาท) ให้แก่ผู้จำหน่ายอาหาร รวมทั้งแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ ของพนักงานส่งอาหารด้วย

 

ค้าปลีกผิดหวังกขค. กระทุ้งเอาอย่างจีน ดูแลแข่งขันการค้าเป็นธรรม

 

ทั้งนี้ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ยกระดับการต่อต้านการผูกขาด โดยสั่งเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเข้มบริษัทเทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและดูแลการแข่งขันในตลาดให้เกิดความเป็นธรรม   โดยเฉพาะหน่วยงานบริหารการกำกับดูแลตลาดแห่งรัฐหรือ  SAMR ที่มีการออกกฎหมายต่อต้านการผูกขาดหลายฉบับ มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่จาก 40 คน เป็น 100 คน และยังคงมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ระดับสูงให้ถึง 150 คนภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะครอบคลุมทั้งฝ่ายตรวจสอบ ฝ่ายกำกับดูแลการแข่งขันในตลาด และฝ่ายกำกับดูแลการควบรวมกิจการ

 

แหล่งข่าวในวงการค้าปลีก เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ หน่วยงาน SAMR ได้สร้างความฮือฮาด้วยการสั่งปรับแจ๊คหม่า เจ้าพ่อแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ ที่ใหญ่ที่สุดของจีนคือ อาลีบาบาไปหลายพันล้านหยวน โทษฐานจำกัดทางเลือกผู้บริโภคมาแล้ว พร้อมกับส่งสัญญาณว่า SAMR กำลังเข้าสู่โหมดของการบังคับใช้กฎระเบียบที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน เพื่อลดความเหลื่อมหล้ำและต่อต้านการผูกขาด ตั้งแต่การจัดส่งอาหาร การช็อปปิ้งออนไลน์ และโซเชียล มีเดียต่าง ๆ

 

ค้าปลีกผิดหวังกขค. กระทุ้งเอาอย่างจีน ดูแลแข่งขันการค้าเป็นธรรม

 

"เมื่อเห็นการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันในตลาดของจีนแล้ว ย้อนมาดูบทบาทการทำงานของหน่วยงานในลักษณะเดียวกันของประเทศไทย แม้จะมีกฎหมายต่อต้านการผูกขาด มี พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าปี 2542 และมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้ายหน่วยงาน SAMR ของจีนแล้ว คือ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) แต่บทบาทของ กขค.กลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจาก SAMR ของจีน และหน่วยงานกำกับดูแลในลักษณะเดียวกันในต่างประเทศ   เห็นได้ชัดจากการกำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า และการพิจารณาประเด็น ในเรื่องของการใช้อำนาจเหนือตลาดที่เกิดขึ้นในหลายกลุ่มธุรกิจ"

 

ไล่ตั้งแต่ธุรกิจเหล้า-เบียร์ที่กินรวบและบังคับขายเหล้าพ่วงเบียร์/โซดา ขายเบียร์พ่วงน้ำมานับทศวรรษ ธุรกิจพลังงานที่ยักษ์ใหญ่ฟันกำไรมหาศาลจากการผูกขาดการกลั่นน้ำมัน และค่าการตลาด ท่ามกลางความย่อยยับของธุรกิจน้อยใหญ่              

 

โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ที่ กขค.ได้อนุญาตให้มีการควบรวมกิจการของค่ายค้าปลีก-ค้าส่งยักษ์ของไทยไปเมื่อปี 2563 และต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ทำให้ยักษ์ค้าปลีก ค้าส่งที่มีอำนาจเหนือตลาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากมีส่วนแบ่งตลาดเกิน  50% และผงาดขึ้นมามีอำนาจเหนือตลาดจนแทบจะผูกขาดปิดกั้นธุรกิจไปโดยปริยาย โดยที่ กขค.แทบไม่ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด

 

 "ก่อนหน้านี้ ทุกฝ่ายต่างคาดหวังจะเห็นหน่วยงานกำกับดูแลสั่งระงับการควบรวมกิจการ หรือสั่งยักษ์ค้าปลีก ค้าส่งจะต้องขายกิจการบางส่วนออกไปเพื่อลดการผูกขาด ลดอำนาจเหนือตลาดอย่างที่กำหนดไว้ในกฏหมาย แต่กลับตรงกันข้าม กขค.กลับทำหน้าที่สนับสนุนการควบรวมหนักเข้าไปอีก จนกระทั่งวันนี้ธุรกิจดังกล่าวเดินหน้าควบรวมและหล่อหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน กลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดจนแทบจะผูกขาดธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ทำให้ประชาชนคนไทยหมดหนทางเลือกเมื่อต้องเดินเข้าไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในห้างยักษ์ใหญ่ของเจ้าสัวไปแล้ว"

 

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการจำกัดสินค้าที่เข้ามาซื้อขายในห้างจากซัพพลายเออร์รายย่อย โดยจะเห็นมีสินค้าเฮาส์แบรนด์ของบริษัท/ธุรกิจในเครือของเจ้าสัวเป็นจำนวนมาก ลดโอกาสผู้บริโภคในการซื้อหาสินค้าจากผู้ผลิตรายอื่น โดยที่หน่วยงานกำกับดูแลคือ กขค.ยังไม่มีมาตรการที่จะปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคได้