“ลานีญา” ทุบผลผลิต สต๊อกโลกวูบ ดันราคายางพุ่ง ร้อนแรง

18 พ.ย. 2564 | 11:03 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2564 | 17:45 น.

กยท. คาด 2 เดือน สุดท้ายปี “ลานีญา” ทุบผลผลิต สต๊อกโลกวูบ ดันราคายางพุ่ง ร้อนแรง “ณกรณ์” เจ๋ง นำร่องผลิตยางป้อนมิชลิน พ่วงขายคาร์บอนเครดิต เพิ่มรายได้ขาวสวนยาง ด้าน “บอร์ด กยท.” ยัวะไอ้โม่งปล่อยข่าวลือ ทุบราคายางร่วง ขู่ เตือนแล้วนะ

อัพเดท สถานการณ์ราคายางพารา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในฐานะที่มีบทบาทบริหารยางทั้งประเทศนั้น เพื่อให้ชาวสวน เกษตรกร ผู้ปลูกยางพารา และทุกภาคส่วน ได้ทราบความเคลื่อนไหว เพื่อได้ตระหนักรู้ และก้าวไปพร้อมๆ กับความเคลื่อนไหวทันสถานการณ์โลก                  

                ณกรณ์ ตรรกวิรพัท

 

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมนี้จัดขึ้นครั้งแรก โดยจะจัดขึ้นทุกเดือน ที่ 2 ของทุกไตรมาส เพื่อสื่อสารประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยางพารา โดยครั้งนี้พูดถึงประเด็นสถานการณ์ยาง ราคายางในไตรมาสที่ 4 ปี และ โรคใบร่วงยางพารา สำหรับทิศทางของการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กยท. ในปี 2565 มี 3 ประเด็นที่ กยท. ให้ความสำคัญ ได้แก่ การศึกษาเขตส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SECri)

 

เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมความเป็นเลิศศึกษา เขตภาคใต้ตอนกลาง เพื่อเป็นพื้นที่บริหารจัดการตั้งแต่สวนยาง โรงงานแปรรูปยาง รวมไปถึงพื้นที่สำหรับรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยาง โดยทำการศึกษาต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยาง Rubberway เป็นการวางแนวทางในการพัฒนายางพาราสู่ความยั่งยืน ลดความเสี่ยงเรื่องผลผลิต

 

รวมถึงการปรับปรุงการทำงานของเกษตรกรรายย่อยในประเทศ ให้ผลิตยางตามแนวทางที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการตระหนักรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้ศึกษาเบื้องต้นที่ จ.สงขลา ร่วมกับมิชชลิน และเรื่องคาร์บอนเครดิต ซึ่งยางเป็นพืชที่เหมาะสม ไม่ใช่แค่การปลูกยาง แต่เป็นการจัดการสวนยาง กิจกรรมในสวนยางตามมาตรฐาน สำหรับจำหน่ายคาร์บอนเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง

อธิวีณ์ แดงกนิษฐ์

นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ถึงสถานการณ์และราคายางในช่วงไตรมาสนี้ ว่า ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. นี้คาดว่าผลผลิตยางจะออกสู่ตลาดลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากในปีนี้เป็นปีที่มีสภาวะลานีญา จึงทำให้ฤดูฝนมาเร็วกว่าปกติและเป็นปีที่มีฝนมาก และในเดือน พ.ย. เกิดพายุฝนเขตร้อนซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

 

รวมถึงเดือน ธันวาคม ยังมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10 จึงคาดว่าปริมาณผลผลิตยางที่ออกมาจริงจะน้อยกว่าที่คาด และคาดว่าผลผลิตของปี 64 มีประมาณ 4.6 ล้านตัน ลดลงประมาณ 1 แสนตัน

คาดผลิตยางลดลง 1 แสนตัน

 

ด้านปริมาณการส่งออกยางมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน กันยายน ส่งออก 3.38 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อน 12.43%

 

ในขณะที่สต็อกยางทั้งของประเทศไทย และสต็อกยางจีน(ชินเต่า) มีแนวโน้มลดลงโดยสิ้นเดือน ซึ่งเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มียางเหลือในสต็อกประมาณ 4 แสนตัน จากช่วงต้นปีซึ่งมีสต็อกอยู่ประมาณ 7 แสนตัน

 

สต๊อกยางโลก ลดลง

นางสาวอธิวีณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวก จากยอดผู้ฉีดวัคซีนในประเทศผู้ใช้ยางซึ่งมากกว่า 60% ของประชากรของแต่ละประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางเริ่มฟื้นตัว เห็นได้จากตัวชี้วัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น โดย IMF ได้ปรับคาดการณ์ว่าปีนี้ GDP โลกจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ในส่วนประเทศผู้ใช้ยางหลัก

เช่น สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 และสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 5  และ PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำ GDP ในเดือน ต.ค. ประเทศผู้ใช้ยางหลักทั้ง สหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50  ค่าเงินบาท

GDP โลก

ในเทรนด์ระยะยาวยังมีแนวโน้มอ่อนค่า และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่ง ANRPC  ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2564 ความต้องการใช้ยางจะมากกว่าการผลิต 3.29 แสนตัน กยท. จึงคาดว่าราคายางในเดือนพฤศจิกายนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และในเดือนธันวาคม ซึ่งหากปลายปีปริมาณฝนลดลงอาจทำให้ผลผลิตยางมากขึ้น ราคายางย่อตัวลงเล็กน้อย

 

กฤษดา สังข์สิงห์

 

ด้านนายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวถึงมาตรการบริหารจัดการโรคใบร่วง ว่า กยท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการมาตรการด้านต่างๆ แบ่งเป็น มาตรการป้องกัน โดยการสำรวจติดตามประเมินพื้นที่ผ่านภาพถ่ายดาวเทียมร่วมกับ GISTDA ศึกษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและจัดทำระบบเตือนภัยผ่านเครือข่ายออนไลน์

 

ป้องกันกำจัดโรคใบร่วงแบบผสมผสาน ทดสอบประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดเชื้อโรค และเครื่องมือพ่นยาป้องกันกำจัดโรค ได้แก่ อากาศยานไร้คนขับชนิดปีกหมุน (โดรน) อากาศยานไร้คนขับชนิดปีกหมุนเดี่ยว (คอปโดรน) แอร์บล๊าส การทดสอบระบบการเจาะและอัดยาเข้าทางลำต้น เป็นต้น

 

ตลอดจนการพัฒนาพันธุ์ยางต้านทาน ต่อโรคใบร่วงชนิดใหม่ของพันธุ์ยางตามคำแนะนำ เช่น BPM1 PB235 RRIT3904 มาตรการควบคุมเชื้อ จัดกิจกรรมสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์พ่น สารเคมี และปุ๋ย โดยใช้งบกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) ดำเนินการไปแล้วไม่น้อยกว่า 16,000 ไร่ กิจกรรมสนับสนุนการใช้ชีวภัณฑ์ในการฟื้นฟูต้นยาง และควบคุมโรคใบร่วงชนิดใหม่ ดำเนินการในพื้นที่ 10,000 ไร่

 

อีกทั้ง สนับสนุนชีวภัณฑ์เชื้อรา สารกระตุ้นทางชีวภาพแพลนท์จี สารกระตุ้นทางชีวภาพแพลนท์จี เฟอร์ตี้ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการในพื้นที่ 12,000 ไร่ มาตรการพื้นฟูเกษตรกร โดยพัฒนาอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน ปรับเปลี่ยนเป็นการปลุกพืชอื่นแทนยางพาราในพื้นที่ที่โรคระบาดรุนแรง เป้าหมาย 19,500 ไร่ สนับสนุนเงินทุนไร่ละ 10,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตและยืดอายุการกรีดยางให้นานขึ้น คือ การใช้เอทธลีนร่วมกับการกรีดยาง หรือวิธีกรีดยางหน้าสูง

 

สุนทร รักษ์รงค์

 

นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยดุเดือด แกมไม่พอใจ พอราคายางขยับสูงขึ้น ก็มีการปล่อยข่าวลือว่า การยางแห่งประเทศไทย จะเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง(CESS) เพื่อปั่นกระแสกดราคายางให้ต่ำลง เพราะพ่อค้าจะได้มีข้ออ้างเรื่องต้นทุนจาก cess ที่สูงขึ้น

 

“ข้อเท็จจริง ตอนนี้การยางแห่งประเทศไทย ยังไม่มีแนวคิดในการเพิ่มเงิน cess และอำนาจการเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง(CESS) เป็นของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 47 พรบ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ผมกราบขอร้องท่านนายทุนผู้ผูกขาดยางทั้งหลาย ที่ร่ำรวยมาจากความยากจนของพี่น้องชาวสวนยาง กรุณาหยุดการกระทำตั้งแต่บัดเดี๋ยวนี้”