“อีอีซี” เปิดแผน 5 คลัสเตอร์ บูมธุรกิจเกษตรสมัยใหม่

19 พ.ย. 2564 | 12:18 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2564 | 19:27 น.

“อีอีซี” นำร่องแผน 5 คลัสเตอร์ พัฒนาภาคการเกษตร ดึงเทคโนโลยี-นวัตกรรม ต่อยอดธุรกิจเกษตรสมัยใหม่ หนุนรายได้เกษตรกร เล็งพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 7 ด้าน ยึดต้นแบบนิวซีแลนด์-สิงคโปร์

นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายและแผน สกพอ. เปิดเผยในงานเสวนาเปิดความสำเร็จการเป็นต้นแบบงานบูรณาการสู่การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน หัวข้อการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยเกษตรสมัยใหม่และต้นแบบเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ สู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ว่า สกพอ.หรืออีอีซีได้ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร เนื่องจากเล็งเห็นว่าเกษตรกรบางส่วนมีการทำอาชีพดังกล่าวก่อนเกิดอีอีซี พบว่ามูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เมื่อเทียบกับมูลค่าทางเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ หากเทียบมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจภายในประเทศ อยู่ที่ 4.6% ของภาคการเกษตรทั้งประเทศ ส่งผลให้สินค้าเกษตรบางส่วนในพื้นที่อีอีซีสามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ยังพบว่าสินค้าการเกษตรที่อยู่ในอันดับ 1 ของพื้นที่อีอีซี เช่น ปลากะพง ไข่ไก่ ทุเรียน รวมทั้งสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบที่เชื่อมต่ออุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี เช่น อ้อย ยางพารา เบื้องต้นอีอีซีได้ประมาณการณ์ภายใน 20 ปีข้างหน้า ประชากรภายในพื้นที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ส่งผลให้ภาคการเกษตรมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

 

 

นางสาวพจณี กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์การเกษตรภายในพื้นที่อีอีซีพบว่าการผลิตสินค้าการเกษตร คือ การผลิตแบบดั้งเดิม โดยใช้เทคโนโลยีน้อยและใช้ทรัพยากรมาก รวมทั้งใช้ที่ดินถึง 66% แรงงาน 13% น้ำ 64% แต่สามารถทำให้เกิดจีดีพีได้เพียง 2.6% เมื่อเปรียบรายได้ครัวเรือนในพื้นที่อีอีซี พบว่า จังหวัดที่มีรายได้จากการปลูกพืชบางชนิดทั้ง 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา มีรายได้ต่ำกว่าจังหวัดที่มีการปลูกไม้ผลในพื้นที่ภาคตะวันออก เบื้องต้นสกพอ.ได้เสนอคณะกรรมการสกพอ. (บอร์ดอีอีซี) โดยคณะกรรมการอีอีซีมีมติเห็นชอบให้มีการจัดแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี ซึ่งกำหนดแผนในครั้งนี้ระบุว่า การพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซีนั้นจะต้องใช้ตลาดเป็นการนำผลิต ใช้เทคโนโลยีช่วยผลักดันในการสร้างรายได้ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการยกระดับรายได้เกษตรกรในพื้นที่อีอีซีให้เทียบเท่ากับรายได้ในอุตสาหกรรมภาคบริการในปี 2580 คาดว่าโครงสร้างเกษตรกรในพื้นที่อีอีซีจะถูกปรับเปลี่ยนเพื่อเชื่อมโยงกับภาคเกษตรและภาคเศรษฐกิจอื่นๆได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นต้นแบบในการพัฒนาภาคการเกษตรที่มุ่งเน้นประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่อไป

ทั้งนี้วิสัยทัศน์ของแผนดังกล่าวเป็นต้นแบบการพัฒนาภาคการเกษตรและเทคโนโลยีทางการเกษตรในการเพิ่มผลิตภาพและการเพิ่มการเข้าถึงตลาดให้มีมูลค่าสูง โดยแบ่งออกเป็น 3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.ยกระดับผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยี 2.ยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงด้วยนวัตกรรมและการตลาด 3.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และภาคการเกษตรเพื่อสร้างบรรยากาศเข้าสู่ธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ โดยแผนพัฒนาการเกษตรเป็นการมุ่งเน้นเป้าหมายที่มีศักยภาพ เบื้องต้นพบว่าจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่เหมาะแก่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงอุตสาหกรรม เนื่องจากเกษตรกรมีความชำนาญในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีตลาดและมีพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการส่งผลให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ส่วนจังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชพลังงาน เนื่องจากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมชีวภาพที่สามารถเชื่อมโยงวัตถุดิบได้ ขณะที่จังหวัดระยอง เป็นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกไม้ผลและอาหารทะเลสดเพื่อการส่งออกสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางตลาดผลไม้เมืองร้อน รวมทั้งอยู่ใกล้สนามบินและท่าเรือ

 

 

 

นางสาวพจณี กล่าวต่อว่า สกพอ.ได้มีการศึกษาพื้นที่เขตอีอีซีทั้ง 3 จังหวัด พบว่าบางพื้นที่ที่มีการปลูกพืชอยู่แล้วเป็นพื้นที่ที่ไม่มีความเหมาะสมทั้งสภาพของดินและน้ำ ดังนั้นพื้นที่ดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่พื้นที่ที่สามารถสร้างมูลค่าสูงได้ โดยแผนพัฒนาพื้นที่การเกษตรในเขตอีอีซีจะมุ่งเน้นสินค้าที่มีตลาดและมีโอกาสมีศักยภาพ ทั้ง 5 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย 1.คลัสเตอร์ผลไม้ มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของผลไม้สุกและตลาดพรีเมี่ยม โดยมีสินค้าเกษตรเป้าหมาย คือ ทุเรียน มังคุด มะม่วง ขนุน มะพร้าวอ่อน พื้นที่เป้าหมาย คือ จังหวัดระยองและฉะเชิงเทรา 2.คลัสเตอร์สมุนไพร มุ่งเน้นการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เชื่อมต่ออุตสาหกรรม New S-Curve สินค้าเป้าหมาย คือ ฟ้าทะลายโจร กัญชง กัญชา ขมิ้นชัน ใบบัวบก และไพร โดยมุ่งเน้นในพื้นที่ของสปก. 3.คลัสเตอร์ประมงเพาะเลี้ยง เป็นการเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มมูลค่าอุปทานและเทคโนโลยีการผลิตสัตว์น้ำเศรษฐกิจระบบปิด ซึ่งปัจจุบันมีเอกชนให้ความสนใจร่วมดำเนินการกับอีอีซีแล้ว 4.คลัสเตอร์พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ มุ่งเน้นในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีภาคอุตสาหกรรมที่ตั้งเป้นศูนย์กลางชีวภาพ และ5.คลัสเตอร์เกษตรมูลค่าสูง สินค้าเป้าหมายคือ เนื้อโคพรีเมี่ยมคุณภาพสูง ไข่ไก่อินทรีย์ และมุ่งเน้นส่งเสริมการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งทั้ง 5 คลัสเตอร์จะมีการขับเคลื่อนที่คล้ายกันคือช่วงต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยดำเนินการตลอดการทำห่วงโซ่มูลค่าของสินค้า

ขณะเดียวกันสกพอ.ได้กำหนดตัวชี้วัด ในการขอรับจัดสรรงบประมาณในแผนงบบูรณาการของอีอีซี 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ต้นแบบสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างน้อย 4 ผลิตภัณฑ์ 2.รายได้เกษตรกรเฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ในปีแรก มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่สามารถดำเนินการได้ก่อน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สกพอ.กำหนด

 

 

 

 นางสาวพจณี กล่าวต่อว่า ส่วนการพัฒนาต้นแบบเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ พบว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าประชากรจะเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านคน รวมทั้งปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจากสนามบินอู่ตะเภา จำนวน 60 ล้านคน ทำให้ภาคธุรกิจใหญ่ขึ้น จึงต้องการศูนย์กลางของธุรกิจในพื้นที่ ระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่เพียงพอและทันสมัย เชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานที่สกพอ.ได้ผลักดันและดำเนินการลงทุนแล้ว ดังนั้นสกพอ.จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและประชากรดังกล่าว โดยเฉพาะเมืองนั้นจะต้องมีความหลากหลายด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และเป็นเมืองเศรษฐกิจแบบ BCG โดยกำหนดพื้นที่ที่ดำเนินการมีพื้นที่รัศมีรอบสนามบินอู่ตะเภา 30 กิโลเมตร (กม.) และพื้นที่ชุมชนที่ใกล้เคียง ซึ่งได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว โดยมีพื้นที่ที่ดำเนินการตามผังของอีอีซี ภายใต้พ.ร.บ.อีอีซี มาตรา 34 โดยสำนักโยธาธิการและผังเมืองต้องจัดทำผังอำเภอเพื่อดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ ดังนั้นโครงการเหล่านี้รวมถึงพัทยาจะเป็นส่วนหนึ่งด้วย อีกทั้งยังให้การสนับสนุนพื้นที่ชายฝั่งโดยรอบทะเล ภายในรัศมี 30 กิโลเมตร (กม.)

 

 

 

 สำหรับภาคเอกชนที่สนใจร่วมลงทุนและพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะสามารถขอรับการส่งเสริมด้านการลงทุนจาก BOI ได้ โดยการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งกำหนดให้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นเมืองน่าอยู่และเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านส่วนจังหวัดชลบุรีจะเป็นพื้นที่เมืองท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและการศึกษา เป็นศูนย์กลางการเงินและการวิจัยพัฒนา ขณะที่จังหวัดระยองเป็นเมืองแห่งนวัตกรรมการวิจัยละการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ทำให้สกพอ.มีโครงการที่จะพัฒนาเมืองที่ได้ดำเนินการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันจังหวัดเชิงเทรามีการปรับภูมิทัศน์พื้นที่คลองและพื้นที่ริมฝั่งน้ำ และจังหวัดชลบุรีมีโครงการท่าเรือแหลมฉบัง โครงการ Old Town นาเกลือ ตามแผน NEO พัทยา โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนบางเสร่ การพัฒนาพื้นที่โรงพยาบาลชลบุรีและโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ฯลฯ โดยแผนจะให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมและระบบสาธารณสุขของเมือง

 

 

ทั้งนี้แนวคิดในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ พบว่า เมืองอ๊อคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ อยู่ในอันดับที่ 1 ของโลกจากตัวชี้วัดของ World Livable City Index ในปี 2564 ขณะที่กรุงเทพ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 98 โดยตัวชี้วัดดังกล่าวจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองของไทยต่อไป ส่วนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจากตัวชี้วัดของ World Smart City Index ในปี 2563พบว่า สิงคโปร์ อยู่ในอับดับ 1 ส่วนกรุงเทพอยู่ในอันดับที่ 76 หากทั้ง 2 เมืองรวมกันเป็นต้นแบบพื้นที่เมืองน่าอยู่ในเขตพื้นที่อีอีซีที่มีทั้งความน่าอยู่และเมืองอัจฉริยะต่อไป

 

 

 

สำหรับความน่าอยู่อัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ มีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 30% แหล่งน้ำพึ่งพาตนเองได้ ลดขยะต้นทาง 2.พลังงานอัจฉริยะ ซึ่งเป็นพลังานสะอาดเต็มรูปแบบและระบบกักเก็บสู่ Zero Carbon Society 3.การสัญจรอัจฉริยะ โดยมีโครงข่ายคมนาคม ระบบราง รถไฟฟ้า ทางจักรยาน การเดินทางถึงภายใน 15-30 นาที 4.ความเป็นอยู่อัจฉริยะ ส่งเสริมสาธารณสุข ความปลอดภัยเพิ่มคุณภาพในชีวิต 5.พลเมืองอัจฉริยะ ส่งการศึกษา การวิจัยและการพัฒนา 6.เศรษฐกิจอัจฉริยะ ส่งเสริมเศรษฐกิจ นวัตกรรม ดิจิทัล ความสร้างสรรค์และวัฒนธรรม และ7.การบริหารจัดการอัจฉริยะ จากการมีส่วนร่วมของประชาชน