ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวใน งาน SET in the City 2021 เทรนด์ชีวิต เทรนด์ลงทุน เมื่อวานนี้ (20 พ.ย.) ภายใต้หัวข้อ "เศรษฐกิจ การลงทุน ความท้าทาย ในปี 2022" ว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้วในปีนี้ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และจีน เห็นได้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่เติบโตราว 6% จากปกติเติบโตราว 2% ขณะที่จีนเติบโตต่อเนื่อง 8%
อย่างไรก็ตามมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง โดยโอกาสคือความสามารถในการส่งออกสินค้าได้มากขึ้น และการลงทุนจากต่างชาติที่จะเข้ามามากขึ้นด้วย แต่ความเสี่ยงก็คือเรื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาน้ำมัน หรือราคาวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งมองว่า ราคาดังกล่าวจะไม่กลับลงมาสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว รวมถึงค่าระวางเรือ ที่อยู่ในระดับสูง จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์
ขณะเดียวกัน ยังต้องจับตาดูเรื่องของค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ย หลังเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัว ทำให้สหรัฐ จะเริ่มดำเนินการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงกลางปีหน้า (2565) ซึ่งจะส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น และหลังจากนั้น สหรัฐก็จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 โดยมีประมาณการณ์ว่า สหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ขณะเดียวกันทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็คงจะดูว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้มากแค่ไหน และน่าจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 เช่นเดียวกัน
เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นก็จะส่งผลให้เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง โดยคาดการณ์ค่าเงินบาทในปีหน้า (2565) จะแข็งค่าขึ้นไม่มาก อยู่ที่ 32.00 บาท/ดอลลาร์ และเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาคค่าเงินบาทจะอ่อนค่าที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออก แต่การนำเข้าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาน้ำมันในปี 2565 จะอยู่ที่ 72 ดอลลาร์/บาร์เรล อ่อนตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีนี้ที่อยู่ระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล
คาด GDP ไทยเด้งกลับสู่ระดับก่อนโควิดในปี 66
สำหรับเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว โดยมองว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) จะสามารถกลับไปสู่ระดับก่อนช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ในปี 2566 หรือคาดเติบโต 3.5% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เติบโต 2.3% โดยจะมาจากการส่งออกที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้คาดว่าการส่งออกจะเติบโตราว 15% และปี 2565 คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เช่นกัน ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในประเทศยังคงฟื้นตัวได้ช้า จากการที่โควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ แต่คาดว่าการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ในปี 2566
ส่วนภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวหลักยังมาจากต่างประเทศ และการเดินทางไปมายังไม่ค่อยมีความสะดวก รวมถึงนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุด ประมาณ 30% ของไทย ก็ยังไม่กลับมาจนถึงปลายปีหน้า จากนโยบายควบคุมอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ของจีน ทำให้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวราว 39 ล้านคน หรือคิดเป็น 12% ของ GDP ได้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป แต่การท่องเที่ยวในประเทศจะฟื้นตัวได้ก่อน คาดว่าจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ในปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566
การดำเนินมาตรการการคลังของภาครัฐในปีหน้า (2565) น่าจะยังคงเน้นการเยียวยาและกระตุ้นการบริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านการให้เงิน ไม่ว่าจะเป็น คนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, การให้เงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น ส่วนการสนับสนุนวงเงินให้กับหมู่บ้าน ชุมชน หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก SME ยังมีน้อย
โลกที่ไม่เหมือนเดิม และ 8 เทรนด์ใหญ่ที่จะส่งผลกระทบ
ดร.กิริฎา กล่าวว่า หลังจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 แน่นอนว่าโลกคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ซึ่งภาพใหญ่ที่จะเข้ามากระทบต่อธุรกิจและการลงทุน ประกอบด้วย