เช็คเลย! ผลไม้ไทย ฮอตไม่เลิก ส่งออกโตไม่หยุดแม้เจอโควิด-19

21 พ.ย. 2564 | 04:43 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2564 | 11:54 น.

กรมเจรจาการค้าฯ เผยช่วง 9 เดือนปี64 “กล้วยแปรรูปไทย” ส่งออกตลาดโลกได้กว่า 4.26 ล้านเหรียญฯ ขยายตัวกว่า 43% ชี้ อเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นำเข้ามากสุด ขณะที่ ทุเรียนสด มังคุดสด และลำไยสด ไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกอันดับที่ 1 ของโลก โดย 9 เดือน ส่งออกพุ่ง 52%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังลงพื้นที่ติดตามความสำเร็จโครงการ “ติดอาวุธเกษตรกรไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วยความตกลงการค้าเสรี (FTA)” ที่จังหวัดสุโขทัย ว่า ได้พบหารือกับเกษตรกรและผู้ประกอบการบริษัท พิมพร บานาน่า อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด สมาชิกสหกรณ์กล้วยแปรรูปตำบลหนองตูม จำกัด ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา กรมฯ ได้ลงพื้นที่ให้คำแนะนำเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA เจาะตลาดต่างประเทศ การพัฒนาช่องทางการตลาด การสร้างแบรนด์ และการพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยปัจจุบันประสบความสำเร็จสามารถขยายการส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น

 

นางอรมน เสริมว่า บริษัทพิมพรฯ เป็นผู้ผลิตกล้วยแปรรูปภายใต้แบรนด์ Chip & Chill โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ มีกำลังการผลิต 3,000 กิโลกรัมต่อวัน โดยได้ใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายตลาดส่งออกไปจีน เนื่องจากจีนไม่เก็บภาษีศุลกากรกับกล้วยแปรรูปที่ส่งออกจากไทยภายใต้ FTA อาเซียน-จีน ปัจจุบันได้เปิดร้านไทยพาวิลเลี่ยน จำกัด จำหน่ายสินค้าในสนามบินต้าชิง กรุงปักกิ่ง และผ่านช่องทางออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “เถาเป่า” และ “พินตัวตัว” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ขนาดใหญ่ของจีน ทำให้มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีรายได้กว่า 1.64 ล้านบาทต่อเดือน

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ขณะที่ละมุดสุโขทัยมีจุดเด่นที่รสชาติหวาน มีกลิ่นหอม ผลสีแดงและเนื้อกรอบ จึงได้สนับสนุนให้เพิ่มช่องทางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าในงาน FTA Fair ซึ่งกรมฯ จัดขึ้นที่ศูนย์การค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ เป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างโอกาสการจับคู่ธุรกิจให้กับผู้ส่งออก และถือเป็นหนึ่งช่องทางให้ละมุดจากบ้านสวนอบอุ่นขยายส่งออกไปต่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งตลาดสิงคโปร์และฝรั่งเศส รวมทั้งร้านค้าในประเทศ เช่น TOPs Supermarket The Mall และตลาดจริงใจ Farmers Market เชียงใหม่ เป็นต้น ส่งผลให้มีตลาดรองรับที่แน่นอนและสามารถจำหน่ายผลผลิตในราคาสูงขึ้น จากกิโลกรัมละ 3 บาท เป็น 100 บาท

 

อย่างไรก็ตาม กล้วยแปรรูป ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2564) ไทยส่งออกสู่ตลาดโลกมูลค่า 4.26 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 0.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย จีน แคนาดา และญี่ปุ่น เป็นต้น

 

ปัจจุบัน 16 ประเทศคู่ FTA ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้ากล้วยแปรรูปจากไทยแล้ว เหลือเพียงอินเดียที่เก็บภาษีกล้วยแปรรูปที่อัตราร้อยละ 30 และเกาหลีใต้ที่เก็บภาษีในอัตรา 36% สำหรับภายใต้ความตกลง RCEP เกาหลีใต้ลดภาษีนำเข้ากล้วยแปรรูปเพิ่มเติมให้ไทย โดยกล้วยที่ทำไว้ไม่ให้เสียโดยน้ำตาลจะทยอยลดลงจนเป็นศูนย์ในปีที่ 15 หลังความตกลงมีผลบังคับใช้ ส่วนกล้วยบรรจุในภาชนะที่อากาศเข้าออกไม่ได้ จะทยอยลดลงจนเป็นศูนย์ในปีที่ 20 หลังความตกลงมีผลบังคับใช้

เช็คเลย! ผลไม้ไทย ฮอตไม่เลิก ส่งออกโตไม่หยุดแม้เจอโควิด-19

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลไม้ อันดับที่ 7 ของโลก โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนยอดนิยม ได้แก่ ทุเรียนสด มังคุดสด และลำไยสด จนทำให้ไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกอันดับที่ 1 ของโลก โดยในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2564) ไทยส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและผลไม้แห้ง ไปทั่วโลกมูลค่า 5,165 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกไปตลาดคู่ค้า FTA มูลค่า 4,998 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (สัดส่วน 97% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด)

 

ประเทศที่การส่งออกผลไม้ไทยขยายตัว เช่น จีน ส่งออก 4,342 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 81%) มาเลเซีย ส่งออก 72 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 129%) อินโดนีเซีย ส่งออก 50 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 106%) เกาหลีใต้ ส่งออก 36 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 41%) และญี่ปุ่น ส่งออก 22 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 9%) เป็นต้น ส่วนผลไม้ส่งออกสำคัญและขยายตัวได้ดี อาทิ ทุเรียนสด ขยายตัว 65% มังคุดสด ขยายตัว 15% ลำไยสด ขยายตัว 54% และมะม่วงสด ขยายตัว 53%

 

ทั้งนี้ ภายใต้ FTA ของไทยที่มีผลใช้บังคับแล้ว 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ปัจจุบัน 12 ประเทศคู่ FTA ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไนฯ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และฮ่องกง ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้สดผลไม้แช่แข็งและผลไม้แห้งทุกรายการจากไทยแล้ว สำหรับอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้ส่วนใหญ่ให้ไทยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2565 ไทยได้ผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าผลไม้สดและผลไม้แปรรูปเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น เกาหลีใต้ ลดภาษีนำเข้าทุเรียน ซึ่งปัจจุบันเก็บภาษีที่อัตรา 36% โดยจะทยอยลดลงปีละ 4.5% จนเหลือศูนย์ในปีที่ 10 หลังจากที่ความตกลงใช้บังคับ (ปี 2574) และจะทยอยลดภาษีนำเข้า มังคุด ฝรั่ง มะละกอ อินทผาลัม และเปลือกส้ม ซึ่งปัจจุบันเสียภาษีที่อัตรา 24% จนเหลือศูนย์ในปีที่ 10 หลังจากที่ความตกลงบังคับใช้ (ปี 2574) รวมถึงผลไม้อื่นๆ อาทิ ทุเรียนอบแห้ง ลิ้นจี่อบแห้ง และมะละกออบแห้ง จากที่ปัจจุบันเสียภาษีอัตรา 36% จนเหลือศูนย์ในปีที่ 15 หลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ (ปี 2579)