นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวในงาน AI Revolution 2025: A New Paradigm of New World Economy จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ หัวข้อ AI-Powered Connectivity : Building the Digital Economy of Tomorrow ว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังมีบทบาทสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจทั่วโลก เทียบเท่ากับการเข้ามาของอินเตอร์เน็ตในอดีต โดย AI ไม่ใช่แค่เครื่องมือเสริม แต่กลายเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนองค์กร
โดย AIS มีการนำ AI และ ระบบโครงข่ายอัจฉริยะ (Autonomous Network) เข้าเสริมศักยภาพของโครงข่ายสื่อสารเพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมเทคโนโลยีอัจฉริยะหรือ Cognitive Tech-Co อย่างสมบูรณ์
AIS ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรไปเป็น Digital Transformation ก่อนช่วงโควิด โดยเน้นการใช้เทคโนโลยี AI อย่างจริงจังเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการทำงานอัตโนมัติ ลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น เช่น การลดการใช้กระดาษ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการสร้างระบบที่สามารถตอบสนองปัญหาลูกค้าได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ลูกค้าแจ้งปัญหา
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการใช้ AI คาดการณ์ปัญหาและจัดการปัญหาโดยอัตโนมัติ เช่น ในสถานการณ์น้ำท่วมที่เชียงใหม่ บริษัทสามารถบริหารจัดการเครือข่ายเพื่อให้บริการลูกค้าได้ต่อเนื่องแม้ในช่วงวิกฤติ และการลดการใช้พลังงานในช่วงเวลาที่มีการใช้งานน้อย ส่งผลให้ประหยัดพลังงานและช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ
ด้านการจัดการซ่อมบำรุงเครือข่าย AIS ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อคาดการณ์ล่วงหน้า ทำให้สามารถส่งช่างเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ก่อนที่ลูกค้าจะรู้สึกถึงปัญหาอย่างชัดเจน เช่น ระบบเครือข่ายไฟเบอร์ที่มีปัญหาสามารถดำเนินการซ่อมแซมก่อนที่ลูกค้าจะแจ้ง ซึ่งเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าได้มากขึ้น
ส่วนด้านโครงข่ายเน็ตเวิร์กของ AIS เราใช้ AI เปลี่ยนโมเดลการทำงานจากเสียแล้วซ่อม เป็นคาดการณ์ว่าอาจจะเสีย แล้วเราซ่อมก่อนสิ่งนั้นจะเกิดผลกระทบต่อลูกค้า
โดยในปีที่ผ่านมา AIS ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีจนได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยถูกจัดอันดับให้เป็นโอเปอเรเตอร์ที่มีระดับการใช้ AI และระบบอัตโนมัติสูงที่สุดในโลก โดยมีการประเมินระดับความสามารถของโอเปอเรเตอร์ในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี และอินโดนีเซีย ซึ่ง AIS สามารถทำคะแนนได้สูงสุด
นอกจากนี้ AIS ยังนำ AI มาใช้ในการจัดการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืน เช่น การลดการใช้เครื่องปรับอากาศและพลังงานไฟฟ้าในช่วงที่การใช้งานต่ำ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 17 ล้านต้น
"การนำ AI มาใช้ไม่ใช่แค่การนำเครื่องมือมาปรับใช้ชิ้นเดียว แต่ต้องเป็นการวางกลยุทธ์อย่างเป็นระบบในทุกมิติขององค์กร เพื่อผลักดันให้องค์กรสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับโลก"
นายวสิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทต่างๆ จะต้องตัดสินใจว่าตนเองจะมีบทบาทในฐานะผู้ใช้ AI อย่างไร โดยสามารถแบ่งได้ 3 แบบ คือ ผู้รับเอา AI ไปใช้งาน (AI Taker) , ผู้ที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงและปรับปรุง AI (AI Reshaper) หรือผู้พัฒนาและผู้สร้าง AI (AI Maker)
นอกจากนี้ รูปแบบการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในองค์กร ซึ่งส่วนใหญ่มักเริ่มจากโครงการเล็กๆ ก่อนจะขยายสู่โครงการใหญ่ เพื่อทดสอบและสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมเน้นย้ำว่าองค์กรควรมองภาพใหญ่และใช้ AI เป็นกลไกหลักในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการทำงานภายในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ