การประกาศความร่วมมือของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) อย่างเท่าเทียมกันกับ กลุ่มเทเลนอร์ เพื่อสนับสนุนให้บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการกัน เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่และปรับโครงสร้างเป็นบริษัทเทคโนโลยี และช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งในธุรกิจโทรคมนาคมไทยจากบิ๊กบราเดอร์ อย่าง “เอเอสไอ” นั้นดูจะสร้างความฮือฮาให้กับวงการโทรคมนาคม
แต่ไม่สร้างความหวั่นไหวในเอไอเอส โดยภายหลังประกาศควบรวม เอไอเอส ตอบโต้ด้วยการรวบรวมศิลปิน ดารา พรีเซ็นเตอร์ ทั้งหมดปล่อยไวรัล “อยู่กับ AIS ดีที่สุด” ออกมาทันที พร้อมกับข้อความเชิญชวนย้ายค่ายมาอยู่กับเอไอเอส เพราะเป็นเครือข่ายอันดับ 1 มีคลื่นมากที่สุด รองรับผู้ใช้งานได้มากที่สุด ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทย
แหล่งข่าวจากระดับสูงจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอเอสไอ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การควบกิจการ ทรู และดีแทค นั้นไม่ส่งผลกระทบอะไรกับเอไอเอส เชื่อมั่นว่า ลูกค้าเอไอเอส ไม่ย้ายหนีไปไหน เป็นไปไม่ได้ลูกค้าเอไอเอส จะย้ายไปทรู กับดีแทค มีแต่ลูกค้าของทรู และดีแทคจะย้ายออก เพราะเกิดกระแสต่อต้านการกินรวบธุรกิจโทรคมนาคมของกลุ่มทรู และซีพี
“บริษัทหนึ่งขาดทุนตลอดเวลา อีกบริษัทหนึ่งขายในเมียนมา ไปรวมกับอีกบริษัทในมาเลเซีย ขายธุรกิจไปทุกวัน ประมูล 5G ก็ไม่ทำ อะไรก็ไม่ทำ เป็นการส่งสัญญาณของคนเจ็บป่วย ที่มาจับมือกัน ซึ่งไม่ส่งผลกระทบอะไรกับไอเอสเอส”
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่าขอบคุณหลายๆท่านที่ส่งกำลังใจและความปรารถนาดีมาให้ชาวเอไอเอส เป็นพลังที่น่ารักมากจริงๆ วันนี้ผมและพี่ๆน้องๆเอไอเอสทุกชีวิต ขอยืนยันว่า เราจะทุ่มเทดูแลลูกค้าอย่างดีที่สุด จากประสบการณ์กว่า 31 ปี จากหัวใจที่พร้อมจะทำให้บริการของเราเป็นประโยชน์กับลูกค้า คนไทย และประเทศ เพราะ digital infrastructure คือ อีกโครงสร้างหลักที่จะผลักดันให้ประเทศเดินหน้า รับมือกับความท้าทายรอบตัวเราต่อไปได้
ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคมรายหนึ่ง กล่าวว่า การกระโดดมาเล่นเกมควบรวมกิจการโดยยอมแลกหุ้นกับกลุ่มทรูดังกล่าว ไม่ได้ทำให้กลุ่มทุนเทเลนอร์ได้ประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น ตรงกันข้ามน่าจะได้ไม่คุ้มเสีย และน่าจะเป็นการเดินเกมทางการตลาดที่ผิดพลาดเป็นคำรบ 2 ของกลุ่มเสียมากกว่า
หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2563 ดีแทคเคยพลาดพลั้งจากการประกาศไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 5G จาก กสทช.จนทำให้สูญเสียโอกาสในการพัฒนาโครงข่าย 5G และสูญเสียโอกาสในการทำตลาดจนถูกคู่แข่ง AIS และTrue กวาดเอาลูกค้าในเครือข่ายไปร่วมปี จนนำมาสู่การปลดผู้บริหารดีแทคในไทยเซ่นความผิดพลาดในครั้งนั้น ก่อนที่ดีแทคจะหวนกลับมาขอใช้คลื่น 5G ในภายหลัง และต้องอัดแคมเปญดีแทคดีทั่วไทย เพื่อเรียกความเชื่อมั่นอยู่ในปัจจุบัน
การที่ดีแทคลงมาเล่นเกมควบรวมกิจการกับกลุ่มทรู ซึ่งมีผลประกอบการไม่ดีนัก และแทบไม่เคยจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นเลย ขณะที่ดีแทคเองแม้จะเป็นเบอร์ 3 ในตลาด แต่ผลการดำเนินงานของดีแทคในช่วงที่ผ่านมายังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และยังคงสามารถทำกำไรจากการดำเนินงานได้ดี เมื่อดีแทคหันมาจับมือกับกลุ่มทรูดังกล่าว จึงทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทเสียหายไปด้วย
“ถือเป็นการก้าวพลาดครั้งที่สอง เพราะเท่ากับโดดไปอุ้มกลุ่มสื่อสารที่มีสถานะง่อนแง่น จนนักลงทุนและผู้ถือหุ้นผวา ต่างพากันคาดการณ์ว่าดีลในครั้งนี้ดีแทคได้ไม่คุ้มเสีย”