แม้ว่าการก่อสร้างรถไฟทางคู่5โครงการจะมีความล่าช้าแต่หากเปิดใช้ เส้นทางเชื่อมโยงโครงข่าย นอกจากจะสะดวกสบายปลอดภัย รวมถึงประหยัดพลังงานค่าใช้จ่ายแล้ว ยังจะช่วยให้เกิดความมหัศจรรย์ในการเดินทางท่องเที่ยวไปตลอดทั้งสองข้างทางอีกด้วย
กรมการขนส่งทางราง(ขร. )ได้รวมสุดยอดโครงการระบบรางของประเทศไทย“ทางรถไฟยกระดับยาวที่สุดในประเทศไทย (จังหวัดลพบุรี)” อีก 1 สุดยอดโครงการระบบรางของประเทศไทยที่แสดงให้เห็นถึงการเดินหน้าพัฒนาระบบการขนส่งทางราง
ที่เกิดจากความมุ่งมั่นพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ ในการสรรค์สร้างระบบรางให้สามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการขนส่งสินค้าให้แก่ประชาชนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ (ช่วงบ้านกลับ-โคกกะเทียม) มีการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับระยะทาง 19 กิโลเมตร เลี่ยงเมืองลพบุรี และมีระยะทางรวม 29 กิโลเมตร โดยจุดเริ่มต้นอยู่ที่สถานีรถไฟบ้านกลับ ก่อสร้างเป็นทางรถไฟระดับพื้นระยะทางประมาณ 5.7 กิโลเมตร และมีการปรับแนวก่อสร้างทางรถไฟใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบกับพระปรางค์สามยอด และโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดลพบุรี
โดยเป็นการยกระดับทางรถไฟ ขนานกับทางหลวงหมายเลข 366 ระยะทาง 19 กิโลเมตร มีความสูงประมาณ 10-20 เมตร ก่อนจะเริ่มลดระดับลงเป็นทางรถไฟระดับพื้นระยะทางประมาณ 4.3 กิโลเมตร และบรรจบ กับทางรถไฟเดิมบริเวณก่อนเข้าสู่สถานีโคกกะเทียม
ถือว่าเป็นทางรถไฟยกระดับที่มีระยะทางยาวที่สุดในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน และทางยกระดับบางช่วงต้องยกระดับข้ามแยก และข้ามแม่น้ำลพบุรี ซึ่งต้องใช้เทคนิคค่อนข้างสูงในการก่อสร้างทั้งนี้ มีการก่อสร้างสถานีรถไฟบนทางยกระดับ 1 สถานี ได้แก่ สถานีรถไฟลพบุรี 2