องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ระบุที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย 4 อันดับแรก มาจากภาคพลังงาน (253 ล้านตันคาร์บอนฯ ต่อปี) คิดเป็นสัดส่วน 70% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของไทยส่วนอีก 30% มาจากภาคเกษตรกรรม
โดยเฉพาะ "นาข้าว" และ การทำปศุสัตว์ (52 ล้านตันคาร์บอนฯ) ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตซีเมนต์ (31 ล้านตันคาร์บอนฯ) และภาคของเสีย (17 ล้านตันคาร์บอนฯ) ดังนั้นหากไทยไม่ปรับตัว ในอนาคตอาจจะถูกกีดกันการค้าผ่านการเก็บภาษีคาร์บอน
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยเป็นไปตามกลไกตลาดโลก จากไทยไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ทุกพืช โดยวัตถุดิบหลัก อาทิ กากถั่วเหลือง และเมล็ดถั่วเหลืองมีการนำเข้าจำนวนมาก เพราะผลผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอ รวมถึงต้นทุนราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ขึ้นลงตลอดเวลาทำให้ไม่สามารถควบคุมต้นทุนให้มีเสถียรภาพได้
“นอกจากนี้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ยังต้องช่วยดูแลเกษตรกรในส่วนของราคาข้าวโพดอาหารสัตว์ที่เป็นอีกวัตถุดิบหลักเพื่อไม่ให้เกษตรกรมีปัญหา เพราะฉะนั้นเรื่องต้นทุนมีทั้งเป็นไปตามกลไกตลาด และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ผ่านมาก็คุยเรื่องนี้มาตลอดจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นสินค้าการเมือง แต่สิ่งที่อยากเห็นคือ ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะอีกด้านหนึ่งรัฐก็มีการอุดหนุนและช่วยเหลือทางการเงินกับเกษตรกรในแต่ละพืชอยู่แล้ว”
ขณะที่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนับจากนี้ คือ “เกษตรสีเขียว” (การผลิตและบริโภคสินค้าอาหาร เส้นใย พืช และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ต่าง ๆ โดยใช้กระบวนการผลิตที่ปกป้องและส่งเสริมสภาพแวดล้อม สุขภาพ ชุมชน และสวัสดิการแรงงาน และสวัสดิการปศุสัตว์) เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทน
ปัจจุบันประเทศคู่ค้าในยุโรปเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าแล้ว และคาดในอนาคตฉลากและภาษีคาร์บอนจะถูกนำมาใช้เป็นมาตรการกีดกันการค้าเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยได้ (อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ตลอดห่วงโซ่ของไทย และการส่งออกสินค้าปศุสัตว์มีมูลค่ารวมประมาณ1.07 ล้านล้านบาทต่อปี)
ขณะเดียวกันในอนาคตไทยจะมีการเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าเช่นกัน ดังนั้น ต้องเร่งเตรียมตัวได้แล้ว
“รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรมากเพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ รัฐบาลจะอุดหนุนต้นทุนก็อุดหนุนไป แต่ต้องเร่งพัฒนาควบคู่ไปด้วย เพราะวันข้างหน้า อาจขายของไม่ได้ และจะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น มองว่าอีกไม่เกิน 2 ปี เราโดนแน่ ถ้าไม่ทำอะไรเลย ดังนั้นอยากให้รัฐบาลมีนโยบายปูพรมมาเลยว่าจะต้องลดคาร์บอนอย่างไรในการผลิตสินค้าเกษตรภายใน 5 ปี”
อย่างไรก็ดี ล่าสุด ทางสมาคมฯอยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับกรมปศุสัตว์ เรื่องการพัฒนาการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศให้เข้าสู่ระบบ “สีเขียว” เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต โดยเริ่มต้นใน 3 วัตถุดิบหลัก ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว และมันสำปะหลัง มีเป้าหมายเข้าสู่ระบบสีเขียวใน 5 ปี (2565-2569 ) เนื่องจากสภาวการณ์การผลิตและการค้าโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจปศุสัตว์และสัตว์น้ำต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
ปัจจุบันตลาดต่างประเทศได้มีนโยบายที่มุ่งเน้นไปในด้านการผลิตสินค้าที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเงื่อนไขการแข่งขันทางการค้าที่นอกเหนือจากการแข่งขันทางด้านราคาและคุณภาพความปลอดภัย โดยสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักสินค้าปศุสัตว์ของไทยได้ออกมาตรการเกี่ยวกับสินค้ายั่งยืน อาทิ EU Green deal และ ESG : Environmental Social and Governance เป็นต้น
ที่สำคัญภาคเอกชนในต่างประเทศ อาทิ Tesco และ Walmart ได้มีออกนโยบายเกี่ยวกับสินค้ายั่งยืน โดยจะต้องตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสินค้าได้ เช่น พืชวัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารสัตว์จะต้องไม่มาจากการทำลายป่า เป็นต้น ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้มีการดำเนินโครงการและมีเครื่องมือในการส่งเสริมอยู่บ้างแล้ว
อาทิ คู่มือมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและปลอดภัย (GAP) การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาและลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่า แต่ต้องเร่งในอีกหลายเรื่องให้มากกว่าที่เป็นอยู่
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,739 วันที่ 12-15 ธันวาคม 2564