เปิดแนวทางเยียวยาคนกลางคืน ลุ้นครม.เคาะเกณฑ์ เช็คเลย

13 ธ.ค. 2564 | 20:00 น.

เยียวยาคนกลางคืน นักร้อง นักดนตรี นักแสดง และผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมโควิด-19 เปิดแนวทางการเยียวยาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ลุ้นครม.เคาะเกณฑ์

เกาะติด"มาตรการเยียวยา" กรณีคนกลางคืน นักร้อง นักดนตรี  นักแสดง และผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมโควิด-19 ทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคม และผู้ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม 

 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับผู้เแทนจากสภาพัฒน์ ผู้แทนกลุ่มคนกลางคืน ผู้จัดงานคอนเสิร์ต อีเว้นท์ จากสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย(เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.64)ว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม 

กลุ่มที่ 1 นายจ้าง ให้ลงทะเบียนโครงการ SME (โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน) ต่ออีก 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือนายจ้างกลุ่มนี้ 3 เดือน โดยไม่มีภาษี 

 

กลุ่มที่ 2 ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะให้ประกันสังคมเยียวยาว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ และจ่ายอีก 5,000 บาท จากรัฐบาล (ม.33 เรารักกัน) 

 

กลุ่มที่ 3 ลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล โดยใช้เงินกู้จากรัฐบาล แต่ต้องให้สมาคม/สมาพันธ์รับรอง 

 

ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบตัวเลขในระบบพบว่า ทั้งประเทศคาดว่าอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1.5 แสนราย ซึ่งจะต้องใช้เม็ดเงินกู้จากรัฐบาลเยียวยาประมาณ 750 ล้านบาท ส่วนผู้ที่เกินอายุเกิน 65 ปี ซึ่งไม่เข้าข่ายมาตรา 40 ของประกันสังคม จะประสานให้กระทรวงวัฒนธรรมสำรวจตัวเลขและเป็นผู้ดูแลเยียวยาต่อไป

“ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือกลุ่มคนทำงานทุกสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มนักร้อง นักดนตรี และอาชีพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงแรงงาน จะเร่งดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้างกลุ่มเหล่านี้ให้ได้รับการช่วยเหลือทุกคน ทุกกลุ่มอย่างเร่งด่วน ตามนโยบายรัฐบาล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายสุชาติ กล่าว

 

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สั่งการให้หน่วยงานเร่งหามาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการและลูกจ้างอาชีพกลางคืนที่ได้รับผลกระทบจากการสถานการณ์โควิด-19 โดยให้กระทรวงแรงงานสรุปผลการเจรจากับตัวแทนสมาคมเครือข่ายนักร้อง นักดนตรี ผู้ประกอบการสถานบันเทิง ฯลฯ

 

หลักเกณฑ์การเยียวยาเบื้องต้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

1.กลุ่มนายจ้าง - สถานประกอบการ รัฐบาลจะเยียวยาตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/ราย/เดือน

 

2.กลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม ม.33

 

3.กลุ่มลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม อาจต้องขึ้นทะเบียน ม.40 ซึ่งมีราว 1.5 แสนราย ส่วนผู้ที่เกินอายุเกิน 65 ปี ให้กระทรวงวัฒนธรรมสำรวจจำนวนเพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติม

 

หลังจากนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองงบประมาณ กระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ฯ จะเร่งพิจารณา และนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ต่อไป

 

ที่มา : กระทรวงแรงงาน , ไทยคู่ฟ้า