มาตรการดึง 4 กลุ่มต่างชาติ ประกาศใช้ไตรมาสแรก ปี 65

13 ธ.ค. 2564 | 09:29 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2564 | 16:34 น.

ที่ปรึกษารองนายก เผย รัฐบาล เดินหน้าสร้าง New S-Curve เศรษฐกิจไทยระยะยาว หนุน ชาวต่างชาติลงทุนไทย คาด มาตรการดึงดูด 4 กลุ่มต่างชาติ ศักยภาพสูง ประกาศใช้ไตรมาสแรก ปี 65 บูมเงินสะพัดล้านล้านบาท

13 ธ.ค.2564 - ม.ล. ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ทิศทางและโอกาสของธุรกิจไทย ในเวที เสวนา "ผ่าทางรอด ธุรกิจไทย หลังเปิดประเทศ " ในงาน Virtual Seminar Go Thailland เปิดเมือง เปิดประเทศ เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน?  ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 

 

ว่า แม้ขณะนี้ ทั่วโลกต่างเผชิญกับความน่ากังวัลใหม่ เรื่อง ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ "โอมิครอน" แต่ยังต้องตามผลพ่วงอีกระยะ เพราะในระยะสั้นยังไม่เห็นผลกระทบเชิงลบรุนแรง โดยเฉพาะอัตราการเสียชีวิต ทั้งนี้ เชื่อว่า ปีหน้า น่าจะคลี่คลายได้ จากการมีวัคซีนตัวใหม่ๆ ออกมารับมือหลังจากพบ บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ๆของโลก ทั้ง ไฟเซอร์ ,โมเดอร์น่า และ แอสตราเซเนก้า ขณะนี้ ล้วนไปศึกษาและไปตั้งฐานการผลิตวัคซีน ที่ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโลก อย่างที่ แอฟริกาใต้ เรียบร้อยแล้ว

ส่วนที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด19  โดยตลอด 2 ปี ได้สร้างจุดอ่อน และเกิดสิ่งใหม่ เป็น New Normal รูปแบบใหม่ๆ ให้ทุกๆอุตสาหกรรมต้องปรับตัว  อย่างไรก็ตาม หลังประเทศไทยมีความคืบหน้าเรื่องการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น ภายใต้การเปิดประเทศ เพื่อที่จะเรียนรู้อยู่กับโควิดอย่างปลอดภัย

 

นับเป็นโอกาสใหม่ของประเทศ ก่อเกิดวิวัฒนาการใหม่ๆ และเพิ่มแรงบวกให้ทิศทางธุรกิจและเศรษฐกิจไทย  ขณะในระยะหน้า ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องโควิด มองสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยในทุกธุรกิจต้องเรียนรู้เพิ่มเติมซึ่งเกี่ยวกับเทรนด์โลกร่วมด้วย เช่น การนำแนวคิด  Net Zero มาปรับใช้ร่วมด้วย

กฎระเบียบไม่เอื้อ เส้นผมบังภูเขาดึงดูดต่างชาติ

ม.ล. ชโยทิต ยังกล่าวถึง ความเปราะบางของธุรกิจไทย ว่า หากพิจารณา จาก New S-Curve อุตสาหกรรมไทย ที่จะเป็นทางรอดในอนาคตสำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น พบนอกจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว การส่งออก และ อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็น 3 กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อวิกฤติหรือ การแข่งขันใหม่ๆของโลก ขณะความสำคัญ กลับเป็น 3 กลุ่มที่สร้างจีดีพีให้เศรษฐกิจไทยสูงรวมกันมากกว่า 50% 

 

เจาะที่ภาคการท่องเที่ยว ประเมิน จำนวนนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยถึง 40 ล้านคนนั้น อาจไม่ได้กลับมาง่ายๆในระยะสั้น ทางรอด คือ ต้องหาหนทางยกระดับการท่องเที่ยว พำนักอยู่อาศัยในรูปแบบอื่นๆ 

 

ทั้งนี้ มีโอกาสได้พูดคุยกับสถานทูต และบริษัทต่างประเทศ พบสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุด ในการเข้ามาลงทุนใหม่ หรือ อยู่อาศัยของต่างชาติ นอกจากกฎระเบียบข้อกฎหมายที่ยุ่งยากแล้ว ยังมาจาก ไทยไม่เคยเปิดโอกาสเรื่องวีซ่า ผู้เข้ามาต้องมีอุปสรรคต่อการขอวีซ่าและต่อใหม่ทุกๆ 1 ปี ซึ่งมองว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นไป ปิดกั้นการเชื้อเชิญให้คนต่างชาติ เข้ามาลงทุน ทำงาน หรือ อยู่อาศัย ทั้งๆที่ เราเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียน 

 

จากปัญหาข้างต้น รัฐบาล จึงมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ผ่าน 4 กลุ่ม ศักยภาพสูง ปรับช่องให้วีซ่าสูงสุด 10 ปี แลกกับการ ลงทุนในไทย เป้าหมายต่างชาติ 1 ล้านคน กระตุ้นเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท  ได้แก่ 

  1. กลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง
  2. ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 
  3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย 
  4. กลุ่มที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ 

 

ทั้งนี้ หากมาตรการดังกล่าว ออกมา บังคับใช้และต่างชาติตอบรับดี เชื่อจะช่วยดึงดูดกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ให้เข้ามาในไทยได้ โดยเฉพาะโอกาสจากอุตสาหกรรม EV ,  ดิจิทัล และ สมาร์ทอิเล็กทรนิกส์ เป็นต้น 

 

"โควิด ทำให้ซัพพลายเชนทั่วโลกถูกดิสรัปหมด เวลานี้ ต่างชาติเริ่มกระจายกระบวนการต้นน้ำ ไปอยู่ในประเทศต่างๆ โยกย้ายจากจีนซึ่งเป็นหลัก รัฐบาลเองพยายามทำให้เป็นประเทศไทยเป็นทางเลือกที่ดี นำร่องจากถอนจากกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค โดยมาตรการดึง 4 กลุ่มต่างชาติ  ผ่านความเห็นชอบ จากครม. แล้ว คาดคงประกาศใช้ได้ภายในไตรมาสแรก ปี 65 ก่อนให้ บีโอไอ รับหน้าที่หลัก ในการสื่อสาร เชื้อชาญกลุ่มเหล่านั้นเข้ามา พร้อมๆ กับการขอร่วมมือกับเอกชน เพื่อจัดตั้ง One Stop Service ตั้งแต่ การจัดหา แหล่งลงทุน - โรงเรียนให้บุตรหลาน การพำนักอยู่อาศัย จนเป็นที่มา ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการศึกษา ความเป็นไปได้ของการแก้กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการครอบครองที่ดินด้วย"