สืบเนื่องจาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติได้ จะจัดเวที “ล้อมวงริมโขง กรณีเขื่อนสานะคาม” วันที่ 17 มกราคม 2564 ที่หอประชุมโรงเรียนเชียงคาน เวลา 8.30 -14.30 น. โดยระบุว่าไม่ใช่กระบวนการจัดการ ตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedure for Notification, Prior Consultation, and Agreement)ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 แต่อย่างใดนั้น
ในฐานะที่พวกเราภาคประชาชน องค์กรประชาสังคม นักสิ่งแวดล้อมและนักกฎหมาย ได้ติดตามกระบวนการจัดการรับฟังความเห็นตามกระบวนการดังกล่าวของสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย นับตั้งแต่ปี 2554เป็นต้นมา กรณีเขื่อนไซยะบุรี (2554) เขื่อนดอนสะโฮง(2557) เขื่อนปากแบง(2560) เขื่อนปากลาย(2561) เขื่อนหลวงพระบาง (2562) และเขื่อนสานะคาม(2563)
โดยกระบวนการดังกล่าวจะมีระยะเวลาสิ้นสุดในระยะเวลา 6 เดือน และต้องมีฉันทามติก่อนที่จะนำไปสู่กระบวนการสรุปความเห็นของคณะกรรมการร่วมทั้ง 4 ประเทศ หรือเรียกว่า Join Committee หากคณะกรรมการมีความเห็นไม่ตรงกัน ต้องเข้าสู่กระบวนการการตัดสินใจของคณะมนตรีแม่น้ำโขง
เดิมการจัดกระบวนการ PNPCA เป็นหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำ ฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย นับตั้งแต่ครั้งแรกในกรณีเขื่อนไซยะบุรี ปี 2554 ภาคประชาสังคมได้ออกแถลงการณ์เรียกร้อง และมีข้อเสนอให้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการที่ครบถ้วนในภาษาไทย และปรับปรุงรูปแบบการจัด รวมถึงเรียกร้องให้ผู้พัฒนาโครงการเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลด้วยตนเองในเวที ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเกิดขึ้นทั้งตามกระบวนการและตามข้อเสนอแนะ
แม้ว่าทางสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ จะพูดเสมอว่า ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจจะให้เดินหน้าหรือยุติโครงการนั้นๆ โดยเฉพาะกรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่ผู้พัฒนาโครงการและเจ้าของโครงการระบุว่า ได้ผ่านกระบวนการแจ้งและปรึกษาหารือตามข้อตกลงของคณะกรรมการแม่น้ำโขงตามระยะเวลา 6 เดือน จึงทำให้เกิดการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้พัฒนาโครงการและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจนสำเร็จ
เช่นเดียวกับเขื่อนดอนสะโฮง และเขื่อนปากแบง ปากลาย หลวงพระบาง ที่กระบวนการดังกล่าวสิ้นสุดไปแล้ว โดยกรณีเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่างแห่งแรก ในประเทศไทยมีการจัดเวทีทั้งหมด 4 ครั้ง ในภาคอีสานและกรมทรัพยากรน้ำ 1 ครั้ง เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือนก็ไม่มีฉันทามติแต่อย่างใด และไม่มีกระบวนการพิจารณาในระดับคณะมนตรีแม่น้ำโขงตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงความร่วมมือแม่น้ำโขง ปี 2538 พวกเราจึงเห็นร่วมกันว่า “กระบวนการ PNPCA เป็นเพียงใบอนุญาตให้นักลงทุนสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก”
ดังนั้นการจัดเวที “ล้อมวงริมโขง กรณีเขื่อนสานะคาม” ที่เปลี่ยนจากเวทีให้ข้อมูลสู่เวทีเสวนา จึงยิ่งสะท้อนความไม่เข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ของสทนช. ในฐานะสำนักงานเลขาที่แท้จริง กระบวนการจัดเวที PNPCA ที่ผ่านมาของทุกเขื่อนนั้น มีเพียงแค่ 1 เวทีที่ใช้คำว่า “การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน” คือกรณีเขื่อนไซยะบุรี เมื่อเดือนเมษายน 2554 ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
หลังจากนั้นก็มีการใช้คำว่า “เวทีให้ข้อมูล” อีก 2 ครั้ง และเวทีสรุปที่กรมทรัพยากรน้ำ 1 ครั้ง เมื่อครบวาระ 6 เดือนแล้ว กระบวนการดังกล่าวก็จบลง เช่นเดียวกับกรณีเขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนปากแบง ปากลาย และหลวงพระบาง ที่ล้วนแล้วแต่เป็นการจัดเวทีแบบ “เวทีให้ข้อมูล” เช่นเดียว และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 6 เดือนไปแล้ว ข้อท้วงติงจากภาคประชาชนในทุกเวทีกลับไม่ได้รับการรับฟังแต่อย่างใด ๆ
“กรณีเขื่อนสานะคาม” นับเป็นเขื่อนแห่งที่ 6 ประกาศเริ่มต้นกระบวนการPNPCA เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 และคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง(Joint Committee) ได้มีมติกำหนดวันสิ้นสุดกระบวนการPNPCA อย่างเป็นทางการ ภายในวันที่ 19 มกราคม 2565
ดังนั้นการจัดเวทีล้อมวงคนริมโขงครั้งนี้ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยิ่งกลายเป็นกระบวนการที่ถอยหลังไม่เป็นไปตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งต้องยึดหลักการรับฟังความเห็นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548
ดังที่ทราบดีว่า เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักนั้นมีบริษัทพลังงานเอกชนยักษ์ใหญ่ของไทยจับจองการลงทุนและผลักดันให้ไทยเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าหลัก โดยเฉพาะเขื่อนปากแบง ปากลาย หลวงพระบาง และสานะคาม รวมถึงเขื่อนภูงอย ที่คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการ PNPCA ต่อไป การประกาศราคารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงและปากลายล่าสุดของคณะกรรมการกำกับกิจการนโยบายพลังงาน(5พ.ย.64) เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองล้นกว่า 50 % มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
หลายแห่งที่ต้องหยุดทำการผลิตไฟฟ้าเนื่องจากไม่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า แต่ยังได้รับเงินจากรัฐตามสัญญาซื้อขายผูกขาดระยะยาว รวมถึงการประกาศปรับขึ้นราคาค่าไฟในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งกลายเป็นภาระหนักของผู้บริโภคไทยต่อเนื่องยาวนาน ขณะที่ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง
จากกรณีเขื่อนไซยะบุรีก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องและยังไร้กลไกในการเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ก่อผลกระทบ การผลักดันการสร้างเขื่อนแห่งใหม่มากขึ้นนั้น ยิ่งจะทำให้ซ้ำเติมให้ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตชุมชนต้องพังทลายและเสียหายอย่างร้ายแรงมากไปกว่านี้ โดยที่ไม่มีใครรับผิดชอบ
พวกเราจึงขอเรียกร้องให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ต้องแสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการ เพื่อทำหน้าที่ในการปกป้องระบบนิเวศแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตของชุมชนลุ่มน้ำโขงของประเทศไทยนับล้านคน เพราะผลกระทบจากเขื่อนสานะคามจะส่งผลร้ายแรงอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศและประชาชนกลุ่มเปราะบางที่สุดของสังคมที่พึ่งพาแม่น้ำโขงเป็นหลัก
รวมถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนระหว่างไทยและลาวในแม่น้ำโขงอีกด้วย ไม่ใช่เพียงการจัดเวทีให้ข้อมูลเพื่อรอให้ครบตามกำหนดเวลา โดยไม่ยึดถือหลักเกณฑ์ระเบียบ กฎหมายใด ๆ ของประเทศไทย
ลงชื่อ กลุ่มรักษ์เชียงของ,มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน,กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง,มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย),ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,กลุ่มฮักเชียงคาน,เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน,กลุ่มฮักน้ำเลย,สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม,เครือข่ายชุมชนคนฮักน้อง จ.อุบลราชธานี