สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร มุ่งเน้นนวัตกรรมนำการเปลี่ยนแปลง และสร้างการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเติบโตในทุกภาคส่วนของประเทศ
ปัจจุบัน กนอ. ดำเนินงานมาแล้ว 49 ปี และกำลังจะก้าวต่อไปภายใต้คอนเซ็ปต์ “เปลี่ยนเพื่ออนาคตสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน” (Transform to the sustainable Future) โดยที่สถานการณ์และสภาวะแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่ง กนอ. ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยผ่านการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีมาตรฐานจริยธรรม จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจ และกรอบการบริหารจัดการความยั่งยืน
-แผนขับเคลื่อนดึงลงทุน
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขับเคลื่อน กนอ. ในอนาคต จะมุ่งเน้นเร่งดึงดูดการลงทุน หาช่องทางธุรกิจใหม่ กำหนดแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ กนอ. และยังคงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้มีโครงการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาห กรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ได้เร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามแผน โดยดำเนินการประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนเมื่อเดือนพฤศจิ กายน 2564 คาดจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ในเดือนพฤศจิกายน 2565 และ 2. โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) ที่มีการลงนามในสัญญาก่อสร้างและควบคุมงานก่อสร้างกับบริษัทผู้รับจ้าง เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 คาดจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 36 เดือน และจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567
“กนอ. ยังคงเดินหน้าสานต่อนโยบายสำคัญของรัฐบาล เช่น โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน(SEZ) รวมถึงเน้นให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม จัดหามาตรการสิทธิประโยชน์ให้โรงงานที่มีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น”
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ โดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม อาทิ โครงการ Facility 4.0 ในการนำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมการทำ Digital Twin ระบบบำบัดน้ำเสีย Smart Meter การพัฒนาศักยภาพบุคลากร กนอ. โดยเฉพาะด้าน IT Digital และ Platform ใหม่ ๆ
-ดันบ.ลูกเข้าตลาดฯ-ลุย5G
อย่างไรก็ดี กนอ. ยังจะหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ผลักดันบริษัทลูกเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้เกิดการระดมทุน และสร้างรายได้ในระยะยาว อีกทั้งจะเร่งปรับยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันขององค์กร ให้รองรับรูปแบบการแข่งขันที่เปลี่ยนไปในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19
นายวีริศ กล่าวอีกว่า กนอ. จะนำเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายในระบบ 5G มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและลดต้นทุนการดำเนินงานองค์กรยุค 5.0 ร่วมกับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT), Big Data และ Artificial Intelligent รวมถึงระบบการบริหารข้อมูลและทรัพยากรร่วมกันในองค์กร หรือ Enterprise Resource Planning (ERP) เพื่อลดขั้นตอน ลดทรัพยากร เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยปรับเปลี่ยนการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการต่าง ๆ ผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์ม เช่น ระบบเอกสารและพิธีการศุลกากร เป็นต้น
“จากสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้ กนอ.ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยผ่านการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีมาตรฐานจริยธรรม จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจ และกรอบการบริหารจัดการความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ภายใต้การดำเนินงานขององค์กรเพื่อให้เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศ จำเป็นต้องใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาในทิศทางที่สมดุล และสามารถอยู่ร่วมกันได้”
ปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่เปิดดำเนินการแล้ว 65 แห่งใน 16 จังหวัด ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินงานเอง 14 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 51 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรวมประมาณ 178,891 ไร่ มูลค่าเงินลงทุนสะสม 5.27 ล้านล้านบาท มีผู้ใช้ที่ดินสะสม 5,019 โรงงาน มีแรงงานสะสม 815,804 คน โดยมีนักลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศร่วมลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง