นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ในปี 65 กนอ.จะทบทวนเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะพิจารณาอ้างอิงตามแนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตปริ้นท์ขององค์กร (CFO) ซึ่งจะนำมาปรับใช้กับนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานด้วย และจะดำเนินนโยบายผลักดันสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียวให้เป็นไปตามเป้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมหนองแค จ.สระบุรี ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีความพร้อมและปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมหลายด้าน อาทิ การดำเนินตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) และนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 (Smart Eco 4.0)
โดยได้รับการรับรองเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับเวิลด์คลาส (Eco-World Class) และเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 (Smart Eco 4.0) ด้านพลังงาน (Smart Energy)
และด้านน้ำ (Smart Water) มีการดำเนินงานศูนย์ Operation Center และโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำครบวงจร หรือ SCG Floating Solar Solution ในการผลิตและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น
“นิคมอุตสาหกรรมหนองแค มีความพร้อมและศักยภาพหลายด้าน อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นเอกชนรายใหญ่พัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการผลิต และการปรับตัวให้สอดคล้องกับชุมชนโดยรอบ”
สำหรับปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมหนองแคมีโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว 18 แห่ง คิดเป็น 48% โดยแบ่งเป็น อุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 2 จำนวน 2 แห่ง อุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 3 จำนวน 11 แห่ง และอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 จำนวน 5 แห่ง
นายวีริศ กล่าวต่อไปอีกว่า การดำเนินการดัวกล่าวเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งส่งเสริมให้ การประกอบกิจการต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล หรือ BCG Model ที่เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติไปพร้อมกัน ประกอบด้วย
เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลเกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
กระทรวงฯมุ่งมั่นผลักดันโรงงานสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) โดยตั้งเป้าทุกแห่งภายในปี 2568 แบ่งเป็น เป้าหมาย 60% ในปี 2565 เป้าหมาย 80% ในปี 2566 เป้าหมาย 90% ในปี 2567 และเป็น 100% ในปี 2568 ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว 2564-2580 เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมและกำกับดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการ